กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นปัจจัยหนึ่ง ในการชี้วัดการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF(World Economic Forum) จัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจปี 2560 พบว่าภาพรวมของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศนับเป็นอับดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติภายใต้นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดโครงการ พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ หรือ Innovative Startup เพื่อต่อยอดแนวความคิด พัฒนาสู่การเป็นวิสาหกิจเริ่มต้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงให้กับประเทศ
ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งในเก้า มหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศ ซึ่งมีการพัฒนางานวิจัยที่ครอบคลุมทุกด้าน ประกอบด้วยงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์กับชุมชน และงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภท นำมาต่อยอดธุรกิจสตาร์ทอัพได้ นับเป็นประโยชน์ต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทั้งประเทศ
"การที่จะเกิดสตาร์ทต้องกระตุ้นให้นักศึกษามีความรู้สึกว่าเขาสามารถเป็นหนึ่งคนที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจสตาร์ทอัพได้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเรามีระบบนิเวศน์ที่จะทำเรื่องนี้ได้ดีพอสมควร เรามีวิชาสอน มีการจัดแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ การเอางานวิจัยมาทำแผนธุรกิจ เช่น Research to Market อันนี้เราทำมา 4-5 ปีแล้ว เรามีการจัดประกวดในลักษณะนี้มากขึ้น รวมทั้งงบประมาณที่ได้จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ทำให้เราต้องการที่จะให้นักศึกษาเข้ามาสู่ระบบเหล่านี้มากขึ้น เขาต้องเห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ และต้องมองออกว่าเขาคือหนึ่งในคนที่จะสามารถทำได้"
โครงการ Innovative Startup จะคัดเลือกสนับสนุน โครงการของอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบุคลากร ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring system) ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดอบรมพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ผลักดันการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความเข้มแข็งและสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น Qual Insect ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ และ Justmine Platform ขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอล Bitcoin นำไปสู่ กิจกรรมการแข่งขันระดับประเทศ Startup Thailand League
นายณรรชพล อินทปรีชา จบการศึกษาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักธุรกิจสร้างนวัตกรรม Justmine Platform กล่าวว่า จุดเริ่มต้นคือสนใจในเรื่องนี้แล้วได้ศึกษาพบว่า ปัญหาของการขุดบิทคอยน์ ไม่ได้กำไรเท่าที่ควร รู้สึกว่าต้องมีตัวแปรหรือว่ามีความเป็นไปได้มากกว่านี้ ซึ่งพบว่ามีวิธีที่จะทำให้สามารถขุดบิทคอยน์ ได้กำไรมากขึ้น จึงเป็นที่มาของ Justmineซึ่งลักษณะการใช้งานก็คือเข้าไปที่เว็บไซต์ Justmine.io ทำการดาวน์โหลดแพลตฟอร์มไปติดตั้งได้เลย ใช้งานได้ฟรี แต่จะเก็บค่าค่าธรรมเนียมจากกำไรที่ทำได้ 3% ตอนนี้มีคนเข้ามาใช้งานแล้ว 300 คน จากการรันแพลตฟอร์มเพียง 3 เดือน
"ตอนที่เริ่มก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ปรากฏว่าเห็นใบประกาศของไซน์พาร์ค เกี่ยวกับการอบรม สตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ ก็เลยเข้าร่วม ซึ่งไซน์พาร์คก็พาเรียนรู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจต่าง ๆ พาออกไปออกบูธ ออกงาน พาไปขอทุน ตรงนี้คือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมมาถึงตรงนี้ จริง ๆ การที่เราจะทำอะไรสักอย่างเราอย่าเพิ่งใส่ใจเรื่องเงินที่จะได้ แต่ให้เราคิดว่าเราสามารถแก้ปัญหาอะไรได้ดีกว่า เช่น แก้ปัญหากับตัวเอง ว่าแก้ปัญหาตรงอื่นแล้วเราค่อยพัฒนามัน มันก็จะสามารถสร้างรายได้ให้เราในอนาคตเช่นกัน"
นายวัชรพล ขำคมเขตร์ นักศึกษาสาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักธุรกิจสร้างนวัตกรรม Qual Insect กล่าวว่าชื่อQual-insect มาจาก qualityที่พยายามจะยกระดับมาตรฐานในการเลี้ยงจิ้งหรีดของคนไทยให้ดีขึ้นด้วย ระบบนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณในการเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องของสภาพอากาศของประเทศไทยที่ร้อนเกินไป ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงได้ในปริมาณที่เต็มประสิทธิภาพ จึงนำระบบนี้เข้าไปช่วยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการเลี้ยง ก็จะสามารถเลี้ยงได้ในปริมาณที่เยอะขึ้นซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่คอยเข้ามาช่วยซัพพอร์ต ทั้ง Innovation Hub ทั้ง Science Parkที่เข้ามาคอยดูแลเรื่องของเงินทุนและคำปรึกษา จะให้เข้าแคมป์เพื่อที่จะได้ประสบการณ์ในการเลือกทำธุรกิจมากขึ้นในมุมมองใหม่ ๆ เหมือนเปิดมุมมองให้มากกว่า
"จริง ๆ แล้วการที่เราจะเริ่มต้นอะไรสักอย่างมันไม่ได้น่ากลัว อย่างไอเดียเรื่องของผัก ว่าไอเดียผมเป็นไปได้ไหม ซึ่งก็มีบางส่วนที่บอกเป็นไปได้ บางส่วนที่มันเป็นไปไม่ได้ ก็ทำให้ลบโปรเจคนั้นไป แล้วก็สนใจเรื่องแมลง จึงลองเข้าไปปรึกษาอาจารย์กีฏะ ซึ่งมองว่าในมหาลัยมันมีเหมือนกับเครื่องมือที่เยอะอยู่แล้ว อยู่ที่จะกล้าทำหรือเปล่า ถ้าเราล้มตอนนี้อนาคตตอนเราออกไปนอกรั้วมหาลัย เราก็ยังสามารถที่จะมีประสบการณ์แล้ว เริ่มต้นไปได้อีกหลายเท่า"
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงนับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วย บ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ ร่วมกับภาครัฐและเอกชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเฝ้าระวังกลุ่มตัวชี้วัดด้านอื่นๆ ให้มีอันดับเท่าเดิมหรือไม่ลดลง ก็เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนความเจริญของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้อยู่ในอันดับดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
บทความ /ภาพ : จิราพร ประทุมชัย