กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ภายใต้นโยบาย ไทยนิยม ยังยื่น หลักแนวคิดที่ว่า "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" และนโยบายของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่วางหลักการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคง "จะไม่แจกปลา แต่จะสอนวิธีจับปลาให้แก่ประชาชน" โดยมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าฝึกอาชีพจำนวนกว่า 420,000 คน และกพร.ดำเนินการฝึกอาชีพแล้วจำนวน 281,706 คน ประกอบด้วย การฝึกช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) จำนวน 11,598 คน และการฝึกอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพหรือประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 270,108 คน และจากการติดตามการมีงานทำ พบว่าร้อยละ 67.70 นำความรู้ไปประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น
นางนภัสสรณ์ อัครพิศาลวัฒนา (สร) อายุ 40 ปี ได้เข้าฝึกอาชีพหลักสูตรฝึกอาชีพอิสระกับ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี (สนพ.นนทบุรี) สาขา ศิลปะประดิษฐ์ (การทำเก้าอี้จากยางรถยนต์) เล่าการทำเก้าอี้จากยางรถยนต์ดูเหมือนจะทำยาก เพราะไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับงานช่างมาก่อน แต่เมื่อลงมือทำแล้ว ก็ไม่ยากเลย ที่สำคัญคือทำตลาดได้ง่าย มีคนสนใจสั่งซื้อเยอะ ปัจจุบัน สรมีรายได้จากการทำเก้าอี้ยางรถยนต์ ประมาณ 2,000 – 4,500 บาท โดยจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก และวางแผนว่าจะรวมกลุ่มในชุมชน เพื่อช่วยกันผลิตแล้วส่งไปจำหน่ายให้กับชาวชาติชอบ เพราะสินค้าแฮนด์เมค มักเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ กำลังมองหาตลาดเพิ่มเติม
ด้านคุณยายเหมาะใจ จักรศรีวรรณ (ยายเหมาะ) อายุ 74 ปี เข้าฝึกอาชีพสาขา การจักรสาน (จากต้นกก) จากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม (สนพ.นครพนม) เล่าว่า ยายมีอาชีพทำนา ใช้เวลาว่างทอเสื่อกกขาย โดยในหมู่บ้านมีต้นกกเยอะ และผู้นำชุมชนได้จัดตั้งเป็นกลุ่ม OTOP มีการสั่งซื้อเสื่อที่ทำจากกกอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการทำเสื่อกกจำหน่าย และเมื่อมีการฝึกอาชีพเพิ่มเติมให้กับผู้มีรายได้น้อย ทำให้ยายได้มีโอกาสมาฝึกอาชีพด้วย ยายเหมาะเล่าต่ออีกว่า ยายสามารถทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกกได้หลายรูปแบบ อาทิ ทำกระเป๋า กล่องใส่กระดาษทิษชู หมวก กล่องใส่ของ เสื่อในหลายๆ ขนาด นอกจากนี้ยังมีความรู้ในการสานกกในรูปแบบลวดลายต่างๆ อีกด้วย ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกวันละ 200-300 บาท ไว้สำหรับใช้จ่ายในครอบครัว
"โครงการฝึกอาชีพให้กับผู้ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ถึงแม้จะปิดโครงการไปแล้ว แต่การฝึกอาชีพในโครงการต่างๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้สูงอายุ การฝึกอาชีพให้กับ ทหาร ตำรวจ ในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ประชากรมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง" อธิบดี กพร.กล่าว