กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--เอ พลัส แอ๊คติเวชั่น
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ที่กรมการค้าต่างประเทศ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า
กรมการค้าต่างประเทศ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัท บุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัดกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างความร่วมมือด้านการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้าน Flavour กลิ่นรสอาหาร ภายใต้ โครงการพัฒนากลิ่นรสด้วยกระบวนการชีวนวัตกรรม (Flavour through Bioinnovation) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการผลิตสารให้กลิ่นรสอาหารในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยความร่วมมือนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการภายใต้โครงการ API Connect ของสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม กรมการค้าต่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชี่อมโยงผู้ประกอบการกับหน่วยงานวิจัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับการพัฒนาสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยให้ได้มาตรฐานมีงานวิจัยรองรับแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้งานวิจัยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า "Market-led research" มากยิ่งขึ้น
นายปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ ประธานบริหารบริษัท บุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกก็ตามแต่ยังคงต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สารให้กลิ่นรสสำหรับอาหาร เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตอาหารใช้เพื่อสร้างสรรค์รสชาติใหม่ๆ และทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งประเทศไทยยังพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดมีมูลค่าการนำเข้าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากเหตุผลดังกล่าว บริษัทบุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญและดำเนินธุรกิจด้านกลิ่นรสอาหารร่วมกับต่างประเทศมานานได้มองเห็นศักยภาพของผลิตผลทางการเกษตรของไทยที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารให้กลิ่นรสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้สร้างโรงงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์กลิ่นรสอาหารภายใต้แบรนด์ " BOON FLAVOUR " ซึ่งเป็นนวัตกรรมสินค้าเกษตรที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เปิดมุมมองใหม่ให้กับสินค้าเกษตรของไทย สร้างจุดเด่นในการแข่งขันและสามารถขยายผลเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน เพราะกลิ่นรสในอาหารนั้นไม่เพียงแต่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์รสชาติใหม่ที่มีเอกลักษณ์ให้กับอาหารเท่านั้นแต่ยังสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นไทยและอาหารไทยได้อีกด้วย ซึ่งความสำเร็จในอนาคตของโครงการวิจัยภายใต้ความร่วมมือนี้จะสามารถเพิ่มศักยภาพของการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทยในการผลิตสารให้กลิ่นรสอาหารที่มีเอกลักษณ์ เป็นนวัตกรรมสินค้าเกษตรเพื่อการเพิ่มมูลค่าที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ซึ่งคงจะต้องทำงานร่วมการสถาบัน APi อย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนากลิ่นรสด้วยกระบวนการชีวนวัตกรรมนั้น จะมีฐานการปฏิบัติการอยู่ที่ กลุ่มสาขาวิชาและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ (School of Bioinnovation and Bio-based Product Intelligence) ที่มีปัจจัยสนับสนุนการวิจัยในการผลิต Flavour ตั้งแต่ต้นน้ำ เริ่มจากการผลิตพืชวัตถุดิบให้มีสารให้กลิ่นรสในปริมาณสูงด้วยระบบ Plant Factory ที่ทันสมัย ควบคุมคุณภาพได้ ซึ่งเป็นการเกษตรแนวใหม่ที่ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่มหาวิทยาลัย Chiba ประเทศญี่ปุ่น โดยที่คณะวิทยาศาสตร์เอง ได้พัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสร้างสารให้กลิ่นรสโดยเชื้อจุลินทรีย์ การวิเคราะห์สารให้กลิ่นรสด้วยเทคนิคชั้นสูง วัสดุเพื่อการรักษากลิ่นรสให้คงตัว ตลอดจนผลของกลิ่นรสที่มีต่อระบบประสาทและร่างกาย เป็นต้น ซึ่งจะมีความร่วมมือด้านวิจัยกับหลายหน่วยงาน ทั้งในคณะฯ และส่วนงานอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ สถาบันโภชนาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น ในโอกาสนี้ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า คณะวิทยาศาสตร์ มุ่งเป้าหมายในการเป็นสถาบันหลักของประเทศด้านการศึกษา วิจัยและบริการวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สังคมประจักษ์ถึงความสำคัญของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาสังคมและผลักดันระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Value-based Economy) ตามนโยบาย Thailand 4.0 ดังนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีความร่วมมือทางด้านงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และ SME รวมทั้งการสร้าง deep-tech startup ต่างๆ คณะวิทยาศาสตร์ ได้เร่งสร้างปัจจัยเกื้อหนุน อาทิ การสร้างระบบสนับสนุน startup คือโครงการ VentureClub@MUSC ช่วยในการนำองค์ความรู้จากการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของอาจารย์และนักศึกษา ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อไป