กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ.พริมา มารีน ("PRM") โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 ทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 39.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา รับผลดีจากปัจจัยความสำเร็จปรับพอร์ตกองเรือให้สอดคล้องภาวะตลาด คุมต้นทุนหนุนศักยภาพการทำกำไรที่ดีขึ้น แถมรับรู้รายได้จากการเข้าควบรวมกิจการ Big Sea เต็มไตรมาส ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นด้านการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่จะช่วยผลักดันความต้องการใช้เรือขนส่งน้ำมันภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น มั่นใจเป้ารายได้ทั้งปีเติบโตเป็นไปตามเป้า
นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวทางเรืออย่างครบวงจร รวมถึงให้บริการเรือขนส่งที่สนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการกองเรือของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 (กรกฎาคม-กันยายน) ของ PRM ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องโดยเฉพาะส่วนธุรกิจเรือขนส่งฯ ในประเทศจากการรับรู้รายได้ในการควบรวมกิจการกับ บริษัท บิ๊ก ซี จำกัด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา สะท้อนศักยภาพในการปรับแผนธุรกิจได้อย่างทันเวลาในช่วงสภาวะตลาดเรือต่างประเทศตกต่ำ สามารถทำกำไรสุทธิได้ 229.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวม 1,195.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การเติบโตของผลการดำเนินงานมาจากความสำเร็จของการดำเนินกลยุทธ์การบริหารจัดการกองเรือให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภาวะของอุตสาหกรรม ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 เพื่อมุ่งสร้างรายได้จากการให้บริการและบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งฯ ในประเทศนั้น PRM ได้ใช้แผนการทดแทนเรือเก่าที่มีอายุมากด้วยเรือต่อใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณในการขนส่ง และสามารถรองรับความต้องการใช้บริการขนส่งน้ำมันภายในประเทศและภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเพิ่มการขนส่งสินค้าในเที่ยวกลับ (Backhaul) ซึ่งช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนการให้บริการต่อเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่เรือขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศที่มีขนาดบรรทุก 100,000 ตันขึ้นไปนั้น หลังจากบริษัทฯ ปรับเปลี่ยนสัญญาการขนส่งรายเที่ยว (SPOT) มาเป็นขนส่งแบบมีระยะเวลา (Time Charter) ซึ่งเป็นลักษณะจ้างเหมา โดยลูกค้าจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการขนส่งทั้งหมด ทำให้ช่วยลดต้นทุนและสร้างกำไรจากการดำเนินงานได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจเรือ FSU หรือเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน ซึ่งมีอยู่ 5 ลำ ที่ PRM มุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระการขาดทุนจากช่วงที่ผ่านมา โดยสามารถเพิ่มอัตราการใช้งานเรือเฉลี่ยให้อยู่ในระดับมากกว่า 90% และคาดว่ากลุ่มธุรกิจ FSU จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งภายในปี 2562
ขณะที่กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมกลางทะเล (ธุรกิจเรือ Offshore) ยังคงสร้างรายได้และกำไรได้เป็นอย่างดีในไตรมาสนี้ เชื่อว่าจะมีสัญญาณการเติบโตที่ดีนับจากนี้ หลังจากภาครัฐเตรียมประกาศผลผู้ชนะการประมูลสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยภายในปีนี้ ส่วนกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการกองเรือที่เติบโตได้โดดเด่นในไตรมาสที่ผ่านมานั้น ยังคงสามารถรักษาฐานลูกค้าจากการรักษามาตรฐานที่ดีเยี่ยมในการบริหารเรือ จนได้รับความไว้วางใจและความพึงพอใจในการใช้บริการจากลูกค้า จึงช่วยสนับสนุนการเติบโตที่ดีให้แก่กลุ่มธุรกิจนี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PRM กล่าวว่า ในไตรมาส 3/61 นี้ บริษัทฯ ยังได้รับปัจจัยบวกจากการรับรู้รายได้จากการเข้าควบรวมกิจการ Big Sea ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันทางทะเลที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เข้ามาช่วยสนับสนุนขีดความสามารถในการให้บริการเรือขนส่งน้ำมันในประเทศให้เพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ ประเมินว่ากลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น รวมถึงแผนบริหารจัดการด้านต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ให้เติบโตเป็นไปตามเป้า