กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--มหาวิทยาลัยศิลปากร
กรมการพัฒนาชุมชน ต่อยอดโครงการชุมชนท่องเที่ยว 0T0P นวัตวิถี จังหวัดขอนแก่น เพิ่มมูลค่าของฝาก ของที่ระลึกผ้าไทยของดีเมืองขอนแก่นใช้ดีไซน์เนอร์มืออาชีพเข้าช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่อยอดสู่สากลโดยไม่ลืมภูมิปัญญาท้องถิ่น จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงในเศรษฐกิจฐานราก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เกิดชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน โดยการนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับวิถีชีวิต ผลิตสินค้าท้องถิ่นผนวกเข้ากับการท่องเที่ยววิถีชุมชนตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว 0T0P นวัตวิถี โครงการภายใต้ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน"เป็นโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด "ร่วมสุข ร่วมวิถี ร่วมสมัย"
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจง ประชุมเชิงปฎิบัติการ การสร้างกลไกสนับสนุนระดับจังหวัดตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว 0T0P นวัตวิถี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยมีพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายผู้นำชุมชน ผู้แทนองค์กรชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และผู้ประกอบการ ร่วมอบรมสัมมนา ณ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล จังหวัดขอนแก่น
ด้วยการให้ตัวแทนทั้ง 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์และเครื่องแต่งกายจำนวน 373 ผลิตภัณฑ์ และผู้ผลิตของใช้และตกแต่งจำนวน 343 ผลิตภัณฑ์ นำผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่ต้องการต่อยอดคนละ1ผลิตภัณฑ์ เข้าปรึกษาดีไซน์เนอร์มืออาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทีม ADSU มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ร่วมกับบริษัท พริส แลนด์แอนด์พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุดใช้งานได้สะดวกที่สุด
และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ โดยการสร้างมูลค่าใหม่จากสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษและมีความพิถีพิถัน โดยยังคงอัตลักษณ์และเรื่องเล่าของท้องถิ่นเอาไว้นำสินค้า OTOP ออกไปสู่สายตาของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ
ศาสตราจารย์เอกชาติ จันอุไรรัตน์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาศิลปะการออกแบบ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีผ้ามากที่สุด เป็นศูนย์รวมผ้าไหมของไทย ที่มีเสน่ห์และสวยงามมาก มีความหลากหลายของลายและสี มีเรื่องเล่ามีที่มาของทุกลายผ้า หรือแม้แต่ผ้าเรียบๆ ไม่มีลวดลายอะไร แต่ก็มีเสน่ห์ยิ่งเมื่อชาวบ้านถือผ้ามาคนละชิ้น นำมาวางรวมกัน จะยิ่งเห็นถึงความสวยงาม มีเสน่ห์ของทุกผืนสมกับจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองแห่งผ้าไทย หลังจากได้พูดคุยกับดีไซน์เนอร์แบบตัวต่อตัว เพื่อบอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่ต้องการเพิ่มมูลค่าทั้งบรรจุภัณฑ์ โลโก้ การประดับตกแต่งสินค้าแล้ว ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของดีไซน์เนอร์ต้องกลับไปออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เกิดขึ้นจริงและนำกลับมาให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
"เราออกแบบโดยดึงภูมิปัญญาความรู้สร้างเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ แต่ละชุมชนจะมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างออกไปจากที่ชาวบ้านมีอยู่เดิม มีความหลากหลายทั้งเรื่องลายผ้า เรื่องราว อนาคตของสินค้ามองว่าจังหวัดขอนแก่นมีผ้ามากที่สุดเป็นศูนย์รวมผ้าไหมของไทย เราจะตัองนำผลิตภัณฑ์ไปสู่สากลได้ด้วยวิธีการหลากหลายเชื่อมโยงโครงการอื่นด้วย เช่น ธนาคาร การตลาดผ่านช่องงทางออนไลน์ ผลิตภัณฑ์เดิมๆ เมื่อได้รับการต่อยอดแล้วสามารถกระจายสู่โซเชียลมีเดียมากขึ้น การพัฒนาจะสามารถต่อยอดไปสู่สากลได้ "ศาสตราจารย์เอกชาติ จันอุไรรัตน์ กล่าว
ด้าน นางแดง คำเภา ผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้าขาวม้าบ้านทุ่งบ่อ ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดสินค้าที่ผลิตอยู่แล้วให้มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ได้มาตรฐานสากล และคงไว้ถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งผ้าขาวม้าที่นำมาปรึกษาดีไซน์เนอร์ เป็นสิ่งที่ทำตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งเสน่ห์ของผ้าขาวม้าที่นี่คือทำจากฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองโบราณที่ปลูกเอง ทอมือทำเองทุกขั้นตอนและยังคงลายและสีของโบราณดั้งเดิมไว้ จะมีความแตกต่างจากผ้าขาวม้าลายหมากรุกทั่วไปอย่างชัดเจน