กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 เติบโตโดดเด่นจากช่วงเดียวกันของ
ปีก่อน ทำรายได้ 848.6 ล้านบาท เติบโต 32.2% และกำไรสุทธิ 70.1 ล้านบาท เติบโต 24.1% หลังธุรกิจส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี และยังรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากธุรกิจอาหารที่เข้าลงทุนใน CSLF รวมถึงส่วนแบ่งกำไรการลงทุน PPSEZ คาดแนวโน้มไตรมาสสุดท้ายเติบโตต่อเนื่อง หลังปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ปีนี้เป็น 3,000 ล้านบาท ล่าสุด บริษัทฯ ได้อนุมัติจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเจาะตลาดใหม่ให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะทางสำหรับสินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (Project Cargo Logistics) ในไทยและ สปป.ลาว
ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้นำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ต้องการความชำนาญเป็นพิเศษชั้นนำระดับอาเซียน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/61(กรกฎาคม – กันยายน 2561) เป็นไตรมาสที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการให้เช่าและบริการ848.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการให้เช่าและบริการ 642 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 70.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 56.5 ล้านบาท
ปัจจัยการเติบโตมาจากรายได้ที่ขยายตัวแข็งแกร่งในเกือบทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ที่ขยายการลงทุนในปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจห้องเย็น มีอัตราเติบโตโดดเด่น 33.1% โดยมีอัตราการเช่าพื้นที่ ณ สิ้นไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 85.3 ธุรกิจขนส่งสินค้า เติบโต 18.5% ธุรกิจรับจัดเก็บเอกสารและข้อมูล เติบโต 13.1% ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย เติบโต 11.8% ธุรกิจรับขนย้าย เติบโต 9.5% ขณะเดียวกันยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหาร หลังจากเริ่มรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากการเข้าลงทุนใน CSLF บริษัท
ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการอาหาร (Food Service) ในประเทศไต้หวัน และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก PPSEZ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศกัมพูชา
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2561) มีรายได้จากการให้เช่าและบริการทั้งสิ้น 2,263.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการให้เช่าและบริการรวม 1,792.6 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิ 160.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 146.4 ล้านบาท ปัจจัยมาจากการขยายตัวในเกือบทุกธุรกิจหลักทั้งในและต่างประเทศ
"เราคาดว่าแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาสสุดท้ายจะเติบโตได้ดี โดยมีธุรกิจห้องเย็น ขนส่งสินค้า รับฝากและบริหารสินค้าอันตราย รวมถึงธุรกิจอาหารที่น่าจะขยายตัวโดดเด่น ก่อนหน้านี้บริษัทฯ จึงปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ในปีนี้จาก 2,600 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตประมาณ 30% จากรายได้ปีที่ผ่านมา หลังจากผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้มากกว่าที่คาดไว้" ดร.เอกพงษ์ กล่าว
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวว่า บริษัทฯ มองโอกาสขยายธุรกิจเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมมือกับกลุ่ม Bok Seng Logistics Pte Ltd
จากประเทศสิงคโปร์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศไทยภายใต้ชื่อ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี บ๊อกเส็ง โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท โดย JVK (บริษัทในเครือ JWD) ถือหุ้น 60% และ Mr. Ng Lian Soon (ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท Bok Seng) ถือหุ้น40% เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะทางสำหรับสินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (Project Cargo Logistics) ในประเทศไทยและ สปป.ลาว ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความชำนาญและองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม อาทิ การขนส่งหัวรถไฟ ชิ้นส่วนสะพาน สถานีปฏิบัติงานก๊าซธรรมชาติ การขนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันระหว่างประเทศ ฯลฯ
การร่วมทุนครั้งนี้เป็นขยายขอบเขตการให้บริการของ JWD จากปัจจุบันที่มีประสบการณ์การขนย้ายเครื่องจักรขนาดกลางตามโรงงานทั่วไป สู่ผู้ให้บริการให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะทางสำหรับสินค้าขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์จากฝั่ง Bok Seng ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง มีอุปกรณ์พิเศษหรือเครื่องจักรหนักในการขนย้าย และผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบติดตั้ง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มBok Seng มีการขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา โดยสามารถใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่มาปรับใช้ในการทำงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทฯ มองว่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะทางสำหรับสินค้าขนาดใหญ่พิเศษในไทยและ สปป.ลาว ยังเปิดกว้างจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน เช่น โครงการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย เช่น รถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน สนามบิน ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานใน EEC โดยปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดเพียงไม่กี่ราย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและมีเทคนิคการทำงานที่ซับซ้อนกว่าการขนย้ายเครื่องจักรทั่วไป ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทระดับโลกหรือบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย และเป็นงานที่ต้องเข้าร่วมประมูลโดยมีการทำสัญญาว่าจ้างในระยะยาว
นอกจากนี้บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ยังสามารถแชร์การใช้พื้นที่คลังสินค้าในเขตท่าเรือแหลมฉบังจาก JWD เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในระหว่างการทำงาน และสามารถใช้งานเครื่องจักรหนักจากกลุ่ม Bok Seng ในการรับขนย้ายให้แก่ลูกค้า พร้อมทั้งนำองค์ความรู้จากทั้ง 2ฝ่ายนำมาขยายธุรกิจร่วมกันเพื่อผลักดันการเติบโตและเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทฯ ในอนาคต