กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ฤดูกาลแอดมิชชั่นกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว สำหรับปีการศึกษา 2562 น้องๆ ม.6 ที่มีเป้าหมาย มหาวิทยาลัย คณะ หรือสาขาวิชา ที่ใฝ่ฝันจะสอบเข้าแล้ว ก็คงเริ่มเตรียมตัวหาข้อมูล สมัครสอบในรอบต่างๆ รวมทั้งฟิตอ่านหนังสือให้พร้อม เพราะยิ่งสามารถสอบติดมหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่รอบแรกๆ ก็สบายใจในการมีที่เรียนต่อเร็วกว่าคนอื่น นอกจากการค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร มีความฝันอะไรแล้ว การประเมินตัวเองว่าเหมาะสมในการเรียนคณะ หรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ หรือไม่ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้น้องๆ รู้ว่าเราเหมาะกับสาขาวิชานั้นๆ มากแค่ไหน เพราะการเรียนคณะ หรือสาขาวิชาต่างๆ ก็เหมือนเป็นแนวทางกำหนดหนทางการประกอบอาชีพในอนาคตของเราได้ส่วนหนึ่ง
สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่มีหัวใจสายสังคมศาสตร์ อาจจะกำลังมองหา หรือลังเลใจว่าสายสังคมศาสตร์จะเป็นตัวเราหรือไม่ บทความนี้จะพาไปเช็คลิสต์กับ 7 คุณสมบัติของเด็กสายสังคมศาสตร์ที่เท่าทันยุคสมัย ที่หากว่าน้องๆ มี รับรองว่าการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในสายสังคมศาสตร์ จะต้องเป็นทางที่ใช่อย่างแน่นอน
1. ชอบการสื่อสาร และความสามารถทางด้านภาษา
การเรียนในสายสังคมศาสตร์นั้น นอกจากจะเน้นการอ่าน เขียน วิเคราะห์ สังเคราะห์แล้ว ความสามารถในการสื่อสารอย่างถูกวิธี และน่าสนใจนั้น เป็นสกิลที่สำคัญอย่างยิ่งของการเรียนสายสังคมศาสตร์ สังเกตได้จากผู้นำ นักวิชาการ นักวิเคราะห์สังคมหรือเศรษฐกิจ ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้นอกจากจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเฉพาะด้านอย่างลึกซึ้งแล้ว จะต้องสามารถสื่อสารความรู้ ความสามารถที่ตัวเองมีออกมาได้อย่างถูกต้อง และน่าสนใจอีกด้วย อีกทั้งความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษที่จำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากลในการสื่อสาร หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นภาษาที่หนึ่งที่ทุกคนต้องสื่อสารได้ ใครที่มีทั้งสกิลในการสื่อสาร ประกอบกับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ก็จะยิ่งทำให้เติบโตในการเรียนสายสังคมศาสตร์ได้อย่างโดดเด่นแน่นอน
2. รู้เท่าทันเหตุการณ์โลก
ใครที่คิดว่าการเรียนสายสังคมศาสตร์ คือการหมกตัวอยู่แต่ในกองหนังสือประวัติศาสตร์ ตำรา หรือทฤษฎีทางสังคมมากมาย ขอบอกเลยว่าไม่จริงอย่างยิ่ง สำหรับการเรียนสังคมศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ ที่ทุกมุมโลกสามารถเชื่อมโยงเข้าหากัน และมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอยู่มากมายตลอดเวลา ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรม การเรียนสายสังคมศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่แค่การรู้แค่เฉพาะทฤษฎี แต่ต้องมีความเข้าใจในบริบทสังคมโลกด้วย ผ่านการติดตามข่าวสาร และรู้จักนำมาวิเคราะห์ผ่านกรอบทฤษฎีต่างๆ ที่เหมาะสม จะทำให้เป็นผู้นำในสายสังคมศาสตร์อย่างแน่นอน
3. สนใจธุรกิจระหว่างประเทศ
หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศ ดูเป็นเรื่องยุ่งยาก ใหญ่เกินตัว ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งความรู้ในเงื่อนไขการลงทุนต่างๆ ที่ต้องศึกษาเฉพาะในหลักสูตรหรือสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งดูไม่น่าจะเกี่ยวกับสายสังคมศาสตร์อย่างแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่า องค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละประเทศ ในการเข้าไปลงทุน ส่งออก หรือค้าขาย กับประเทศนั้นๆ ดังนั้น น้องๆ มัธยมปลายที่มีความสนใจ หรือมีสกิลในด้านการค้าขาย จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งสกิล ที่ไปกันได้กับการเรียนสายสังคมศาสตร์ได้ดีทีเดียว
4. ชอบเปิดรับประสบการณ์ในต่างแดน
เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์" หรือไม่ ? คำกล่าวนี้ดูเหมือนเหมาะที่จะใช้กับการเรียนในสายวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการปฏิบัติและลงมือทำเพื่อค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ศึกษา แต่เชื่อหรือไม่ว่าคำกล่าวนี้ยังใช้ได้กับการเรียนในสายสังคมศาสตร์เช่นเดียวกัน เพราะการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งที่สุด คือการเข้าใจสังคมนั้นๆ ผ่านการสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง ยิ่งในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ การเรียนผ่านตำราหรือการเปิดรับสื่อต่างๆ ก็ไม่สามารถเทียบได้กับการได้เข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วยตัวเอง อีกหนึ่งคุณสมบัติเฉพาะของผู้ที่เหมาะกับการเรียนด้านสังคมศาสตร์ก็คือความพร้อมที่จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในต่างแดน รวมทั้งความพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวในทุกสถานการณ์และทุกอาณาบริเวณของโลก
5. เข้าใจความแตกต่าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
การเรียนสายสังคมศาสตร์คือการสั่งสมความรู้จากตำรา ทฤษฎีต่างๆ และการถกเถียงเพื่อนำไปสู่แนวทางและวิธีคิดใหม่ๆ ที่ปรับตัวเท่าทันสถานการณ์โลกที่ไม่หยุดนิ่ง ฉะนั้นการพูดคุย แลกเปลี่ยน ไปจนถึงการถกเถียงเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา นอกจากผู้เรียนสายสังคมศาสตร์จะต้องเป็นผู้พูดและนำเสนอความคิดที่ดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติของการเป็นผู้ฟังที่ดี ยอมรับและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง จากมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางความคิด และผลผลิตทางความคิดใหม่ๆ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม
6. มีความเข้าใจสังคมโลกในมิติที่หลากหลาย
นอกจากคุณสมบัติต่างๆ ที่ได้กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษ ความรู้เท่าทันเหตุการณ์โลก การเป็นผู้เปิดรับความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ฯลฯ ทักษะเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนที่เก่ง แต่การเรียนในสายสังคมศาสตร์ยุคใหม่ ไม่ได้ต้องการแต่คนเก่งเพียงอย่างเดียว คนที่มีความใส่ใจ เข้าใจสังคม มีความยืดหยุ่น รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่ยึดติดกับหลักการมากจนเกินไป รู้จักการประนีประนอมที่เหมาะสมในทุกสถานการณ์ เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันได้อย่างสันติ ท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดในสังคม
7. ทักษะความเป็นผู้นำ
ทักษะสุดท้ายที่เป็นทักษะสูงสุดที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในสายสังคมศาสตร์ ก็คือ "ความเป็นผู้นำ" คนที่มีคุณสมบัติของความเป็นผู้นำนั้นคือผู้ที่สั่งสมความรู้จากศาสตร์ต่างๆ จนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ประกอบกับการหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ผ่านคุณสมบัติที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร ความสามารถในการใช้ภาษาที่หลากหลาย ความรู้เท่าทันเหตุการณ์โลก ฯลฯ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ในตัวผู้นำสำคัญๆ ของไทยหลายคน ใครที่มีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่แล้ว หรือพร้อมที่จะเปิดโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในระดับมหาวิทยาลัย ย่อมเข้าใกล้ความเป็นผู้นำทางด้านสังคมศาสตร์ได้ไม่ยาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คุณสมบัติทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมานั้น เป็นคุณสมบัติของเด็กรุ่นใหม่ที่ประเทศชาติกำลังมองหา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวไกลสู่สังคมโลก วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) เป็นวิทยาลัยนานาชาติที่มีการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยเน้นการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้แบบสหวิทยาการทั้งด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ในอาณาบริเวณศึกษาเฉพาะที่กำลังมาแรงอย่าง จีน อินเดีย รวมทั้งไทยที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน เพื่อผลิตผู้นำทางสังคมดังเช่นบุคคลต้นแบบอย่างศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง
การเรียนที่จะประสบความสำเร็จในสายสังคมศาสตร์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้แบบลึก และกว้าง การมีความรู้แบบลึกก็คือ ความเข้าใจในศาสตร์ที่เฉพาะในทุกๆ ด้านของสังคมศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ส่วนการมีความรู้แบบกว้าง ก็ ยิ่งในปัจจุบันมีอาณาบริเวณใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามอง เช่น จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีแง่มุมต่างๆ น่าสนใจศึกษา เพื่อตอบรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการเป็นผู้ที่มีความรู้แบบ ให้เกิดการพัฒนาตัวเองจนเป็นผู้ที่มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning และมีความสอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานในปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับปีการศึกษา 2562 พีบีไอซีได้เปิดสมัครรับตรงรูปแบบใหม่ ทั้ง 3 หลักสูตรนานาชาติ ได้แก่ ไทยศึกษา จีนศึกษา และอินเดียศึกษา โดยสามารถตรวจสอบคุณสมบัติได้ที่www.pbic.tu.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล์ admissions@pbic.tu.ac.th และ 02-613-3701 หรือ facebook.com/PBIC.TU