กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกแบบและตัดเย็บชุดรีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดกิโมโนญี่ปุ่น คว้ารางวัล RMUTT The Best Costume ในการประกวดดาวเดือนประจำปี 2561
ผศ.ดร.อ้อยทิพย์ ผู้พัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เผยว่า ชุดรีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้ นำเทคนิคศิลปะงานตัดต่อผ้า แพชเวิร์ค (Patchwork) การต่อเศษผ้าเป็นลวดลาย จากรูปทรงเรขาคณิต ตัดและต่อเกิดเป็นผ้าผืนใหญ่ เกิดสีสันและลวดลายตามจินตนาการ และประโยชน์ใช้สอยตามที่ผู้ใช้กำหนด ไม่มีรูปแบบตายตัว และการปักผ้าด้วยมือ (Hand Embroidery) เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งเพื่อใช้ในการตกแต่งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้ในบ้าน เพื่อให้มีคุณค่าและความงามยิ่งขึ้น สำหรับชุดรีไซเคิล ผลงานของคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ที่ได้นำวัสดุเหลือใช้เศษผ้าที่เหลือจากการเรียนการสอน หรือเสื้อผ้าที่ไม่ได้สวมใส่ แผ่นดีวีดี มาดัดแปลงตัดเย็บโดยผ่านเทคนิค ขวดพลาสติก นำมาประดิษฐ์ อาศัยเทคนิคที่ได้เรียนในห้องเรียนมาทำให้เกิดเป็นชุดที่สามารถสวมใส่ได้จริง เป็นสิ่งที่ดีมาก นำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เกิดเป็นชุดที่สวยงามและสามารถสวมใส่ได้จริง
"ก๊อต" นายกฤษณะ เจิมจันทร์ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า แนวคิดในการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดกิโมโนประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งการรีไซเคิล ซึ่งตรงกับแนวคิดในการประกวดชุดประจำคณะในปีนี้ พวกเราชาวคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ จึงนำเศษวัสดุเหลือใช้เช่น ขวดน้ำพลาสติก แผ่นดีวีดี เศษผ้าหลากหลายชนิดที่ทุกคนคิดว่าเป็นขยะนำมาสร้างสรรค์ผลงานชุดประจำคณะให้สวยงามและสวมใส่ได้จริง โดยชุดด้านในของผู้ชายและผู้หญิง ประกอบไปด้วยเสื้อที่ตัดเย็บจากเศษผ้าปักด้วยแผ่นดีวีดีตัดมือรูปทรงเลขาคณิต กระโปรงตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้ปักตกแต่งด้วยขวดน้ำพลาสติกตัดมือเป็นกลีบดอกไม้และตอกมือทั้งตัวประดับด้วยเลื่อมจากแผ่นดีวีดี กางเกงใช้ศิลปะการตัดต่อตกแต่งด้วยการด้นไหมทั้งตัว เสื้อคลุมทั้งผู้ชายและผู้หญิง โครงชุดใช้วิธีการตัดต่อจากผ้าชิ้นเล็กๆ ประกอบกันจนเป็นเสื้อคลุม ตกแต่งเพิ่มเติมเป็นลวดลายด้วยเศษผ้านานาชนิดด้วยการเย็บมือประดับตกแต่งด้วยดอกไม้จากขวดพลาสติกหลากสีสัน เพิ่มความแวววาวด้วยเลื่อมที่ทำจากแผ่นดีวีดีเลื่อมที่ทำจากแผ่นดีวีดีทั้งชุด โดยใช้นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่า ประมาณ 100 คน ในการตัดเย็บชุดนี้
ทางด้าน "หมูป่า" นายสุภวัฒน์ ฐิติโชติทวีสิน นักศึกษาสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ประธานฝ่ายนักศึกษาสัมพันธ์ เล่าว่า สำหรับเทคนิคในการตัดเย็บชุด ได้นำเศษผ้ามาตัดเป็นชิ้น นำมาตัดต่อเป็นผืนใหญ่ชุดประมาณ 5 เมตร ตัดต่อผ้าเป็นชุดขึ้นมา นำดีวีดีมาตัดเป็นรูปเรขาคณิต จากนั้นนำมาเย็บให้เป็นชุด ขวดพลาสติก นำมารีดแบนนำมาตัดเป็นกลีบดอก และแบบที่สองนำมารีดและตอกเป็นดอกไม้ นำดอกไม้ที่ได้มาปักลงในชุด เพิ่มดีเทลปักดีปลาคราฟลงบนชุดผู้ชาย สื่อแทนผู้ชาย และปีกกระต่ายลงบนชุดผู้หญิง สื่อแทนผู้หญิง การนำขยะหรือของที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเป็นสิ่งดี เป็นการลดขยะ และได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาปรับใช้ในการออกแบบและตัดเย็บชุด เกิดเป็นชุดสวยๆ ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าตัดเย็บมาจากวัสดุเหลือใช้ ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงิน เพราะว่า ผ้าและวัสดุตกแต่งค่อนข้างมีราคาแพง