กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--Med Agency
หากพูดถึง "วิชาชีพกายภาพบำบัด" ต้องยอมรับว่าเป็นวิชาชีพที่สำคัญกับระบบสุขภาพมาก ย้อนกลับไปในช่วงก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฟื่อง สัตย์สงวน ( บิดาแห่งวงการกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ) เป็นผู้ก่อตั้ง โรงเรียนกายภาพบำบัด ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในปี 2508
โดยขึ้นอยู่กับภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ( ชื่อในขณะนั้น )
ปัจจุบันนี้ ความต้องการนักกายภาพบำบัดตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ยังมีความต้องการนักกายภาพบำบัด ไปประจำทำงานอีกมาก ทำให้เกิดการเรียนการสอนตามมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วไป
ส่วนประชาชน ได้เห็นความสำคัญ และรู้จักกับงานทางด้านกายภาพบำบัดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับการรักษาจากนักกายภาพบำบัดตามโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งในสังคมผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด ถือว่าสำคัญมากเช่นกัน
นอกจากนี้ยังเกิด "คลินิกกายภาพบำบัด" จำนวนมาก โดยเฉพาะการทำ CPG ที่นักกายภาพบำบัดสามารถให้บริการจัดการกับปัญหาสุขภาพ โดยมีแนวทางเวชปฏิบัติ ที่นักกายภาพบำบัดและผู้ป่วย ตัดสินใจใช้แนวทางการจัดการปัญหาสุขภาพที่เหมาะสม
ล่าสุด medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์ประเสริฐ ดิษฐ์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซกา จังหวัดบึงกาฬ ให้สัมภาษณ์ว่า
โรงพยาบาลเซกา โดย นายภูดิศ สะวิคามิน นักกายภาพบำบัดปฏิบัติการ งานกายภาพบำบัด ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่อำเภอเซกา
นายภูดิศ ได้พัฒนานวัตกรรมที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไตป้องกันแผลกดทับ ทดแทนที่นอนลมไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และนอนไม่สบายตัวจากความร้อน ผู้ป่วยหลายรายจึงไม่ใช้ ทำให้เกิดแผลกดทับ ติดเชื้อ มีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งคุณสมบัติของถุงน้ำยาล้างไต พบว่า มีคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น เหนียว นุ่ม มีความเย็น รับน้ำหนักได้มาก จึงเหมาะสมในการนำมาพัฒนาให้สามารถใช้ได้ทั้งแบบลมและน้ำ และเมื่อนำมาผลิตเป็นที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต พบว่า มีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเตียงลมไฟฟ้าถึง 10 เท่าปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม ใช้ได้นาน ซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง ใช้ได้ดีในชุมชน
อีกทั้งยังเป็นการวัสดุที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชน นวัตกรรมที่นอนลมป้องกันแผลกดทับจากถุงน้ำยาล้างไต ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ มากกว่า 50 รางวัล และล่าสุดประสบความสำเร็จได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ.2561 สาขานวัตกรรมระดับดีเด่น
ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุเป็นกายอุปกรณ์ที่สามารถเบิกจ่ายให้ผู้พิการได้ รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน เพื่อขยายผลการจัดตั้งกลุ่มผลิตและจำหน่ายที่นอนลมอีกทั่วประเทศแล้วกว่า 30 จังหวัด
ทั้งนี้ จังหวัดบึงกาฬมีผู้พิการทางร่างกายมากกว่า 5,000 คน และเป็นผู้ป่วยติดเตียง คนชรา ผู้ป่วยระยะฟื้นฟูจำนวน 750 คน ในจำนวนผู้ป่วยติดเตียงทั้งหมด พบว่า มีแผลกดทับ จำนวน 57 คน และติดเตียงเสี่ยงต่อการเกิดแผลจำนวน 150 คน
ผลการทดลองใช้กับผู้ป่วย ในเขตอำเภอเซกาเป็นระยะเวลา 3 ปี พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลกดทับในระดับ 1-3 แผลหายถึงร้อยละ 100 แผลระดับ 4 ลึกถึงกระดูก ติดเชื้อหายร้อยละ 40
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีแผลกดทับ ผู้ป่วยที่ใช้ที่นอนอย่างสม่ำเสมอไม่พบการเกิดแผลขึ้นเลย ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ใช้หรือใช้ไม่สม่ำเสมอ เกิดแผลขึ้นร้อยละ 77