กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา โชว์ผลดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ร.ร.ตชด. สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เดินหน้าอบรมครู 3 กลุ่มสาระ พัฒนาห้องเรียนปฐมวัย สร้างแรงจูงใจนักเรียนประถมด้วยกิจกรรมกลุ่ม
ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ร.ร.ตชด.) ประจำปี 2561 ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินการโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีพระราชประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ทั้งทางด้านอาหาร โภชนาการ ด้านการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และมีทักษะทางวิชาการ นำไปสู่การประกอบอาชีพที่เป็นรากฐานของการพึ่งตนเอง และพัฒนาท้องถิ่นสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การดำเนินงานจึงกระจายอยู่ตามแนวชายแดน ครอบคลุมพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลการคมนาคมทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านและโรงเรียนในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มุ่งเน้นส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระบรมราโชบายและแนวพระราชดำริ โดยได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดโครงการเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะการสอนให้แก่ครูโรงเรียน ตชด. อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกระบวนการจัดอบรมฝึกปฏิบัติการเพื่อทักษะทางวิชาการให้แก่ครู การรับฟังปัญหาและร่วมกันสะท้อนคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียน ตชด. รวมถึงกิจกรรมนิเทศติดตามแบบกัลยาณมิตรเพื่อให้กำลังใจ ให้คำแนะนำแก่ครู ตลอดจนศึกษาพฤติกรรมของนักเรียน ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การประเมินผลสำหรับพัฒนาและปรับปรุงต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.มนตรี เด่นดวง คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "โรงเรียน ตชด. ส่วนใหญ่อยู่บริเวณชายแดน มีนักเรียนที่มีสถานะต่างๆ กันจำนวนมากที่ยังไม่มีสัญชาติไทย เรื่องสถานะของบุคคลเป็นเรื่องซับซ้อนมาก แต่ก่อนนี้เด็กไร้สัญชาติไม่มีสิทธิเข้าศึกษา ปัจจุบันผ่อนผันให้เด็กเรียนได้แต่ก็ไม่มีโอกาสรับราชการหรือสวัสดิการบางประการ ครู ตชด. จึงมีหน้าที่อีกอย่างคือออกไปสำรวจสถานะบุคคลของนักเรียน เพื่อทำรายงานเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เผื่อจะมีวิธีช่วยเหลือ…" ด้วยความสำคัยดังกล่าว มรภ.สงขลา จึงมอบหมายให้คณะครุศาสตร์รับผิดชอบดูแลและจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูโรงเรียน ตชด. สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง สตูล และ ตรัง จำนวน 15 โรงเรียน
ดร.มนตรี กล่าวอีกว่า ทางคณะฯ ได้ร่วมกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จัดทำโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโรงเรียน ตชด. เพื่อสนองโครงการพระราชดำริ นับตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงสถานะเป็นวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตามลำดับ มานานกว่า 30 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มรภ.สงขลา ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนดำเนินการใน 3 กิจกรรม ดังนี้ 1. อบรมเชิงปฏิบัติการครูโรงเรียน ตชด. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และ การจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา เทคนิคการสอน ทักษะการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระดังกล่าว 2. พัฒนาห้องเรียนเด็กปฐมวัยในโรงเรียน ตชด. โดยใช้วิธีอบรมให้ความรู้แก่ครู และเปิดโอกาสให้นักศึกษาวิชาเอกการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ ร่วมกิจกรรมพัฒนาห้องเรียนและแหล่งเรียนรู้ในสถานการณ์จริง รวมทั้งฝึกให้นักศึกษามีจิตอาสา ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่ออาชีพครู 3. อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแรงจูงใจให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 และศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังจากการพัฒนาแรงจูงใจโดยใช้กิจกรรมกลุ่ม
ขณะที่ พ.ต.อ.สถาพร แก้วสนิท ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาที่ต้องใช้เวลานานและต่อเนื่อง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้มีการพัฒนาในทุกด้าน ในกระบวนการพัฒนาการศึกษาสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่งคือการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าของประเทศชาติ หากคนที่ได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถจนเกิดสำนึกที่ดี เห็นคุณค่าของการศึกษาทั้งของตนเองและของผู้อื่นแล้ว ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแน่นอน ขอขอบคุณ มรภ.สงขลา ที่มีความตั้งใจจริงในการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียน ตชด. คอยติดตามและนิเทศการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหวังและเป้าหมายอันเดียวกันคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้เจริญเติบโตและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติสืบไป