กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--
มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยร่วมกับกลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำการการบินสำรวจทรัพยากรทางทะเลเพื่อประเมินสถานภาพสัตว์ทะเลหายากและแนวหญ้าทะเลในฝั่งทะเลอันดามันครอบคลุม ๕ จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่และตรัง ในระหว่างวันที่ ๑๒-๒๗ มกราคม ศกนี้ โดยวัตถุประสงค์หลักของการบินสำรวจครั้งนี้คือ สำรวจข้อมูลประชากรและแหล่งที่อยู่อาศัยในสถานะต่างๆ ของสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล, พะยูน โลมา และ วาฬ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการวางแผนการอนุรักษ์ทั้งในระยะเร่งด่วนและต่อไปในระยะยาว ด้วยสัตว์ทะเลเหล่านี้ใช้พื้นที่กว้างใหญ่ในการดำรงชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการสำรวจที่ทำให้ได้ข้อมูลได้อย่างครอบคลุม
เครื่องบิน HS-EAL (Tecnam P92-JS) ที่ใช้ในการบินสำรวจ
จากการที่ทรัพยากรธรรมชาติตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างคลื่นยักษ์สึนามิ ความแปรปรวนของฤดูกาล ลมมรสุม ภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเดินเรือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่อยู่อาศัย ธุรกิจโรงแรมใหญ่ๆ มากมาย โครงการพัฒนาด้านพลังงานต่างๆ เช่นการผลิตไฟฟ้าและปิโตรเลียม รวมทั้งการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำลายระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งกระจายพันธุ์ของสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหายาก อาทิ เต่าทะเล พะยูน โลมา วาฬ และในปัจจุบันสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และหากไม่เร่งรีบดำเนินการช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในไม่ช้า สัตว์เหล่านี้จะต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน
ภาพทางอากาศแหล่งหญ้าทะเล ภาพถ่ายทางอากาศกลุ่มพะยูน หมู่เกาะตะลิบง จ. ตรัง
(ภาพโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฯ จากการสำรวจทางอากาศในปีพ.ศ. ๒๕๔๙)
ในการสำรวจด้วยการบินครั้งนี้ นักบิน Mr.Eduardo Lolgorri ซึ่งเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิฯ จะใช้เครื่องบินส่วนตัวคือ เครื่อง HS-EAL (Tecnam P92-JS) ปฏิบัติงานร่วมกับ อ. กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน รวมทั้งอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเพื่อให้การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและสัมฤทธิ์ผล มูลนิธิฯ ได้จัดทำโครงการย่อยขึ้นมา เช่น งานช่วยชีวิตสัตว์ทะเลที่เจ็บป่วยจากสาเหตุต่างๆ, งานส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, งานด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น, งานเผยแพร่รณรงค์การต่อต้านการล่าและค้าสัตว์ทะเลหายาก และการขยายเครือข่ายแนวร่วมไปสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
แผนการบินสำรวจ
วันที่ ๑๒ — ๑๔ มกราคม ทำการสำรวจในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง
วันที่ ๑๕ — ๑๗ มกราคม ทำการสำรวจในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่
วันที่ ๑๘ - ๒๑ มกราคม ทำการสำรวจในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา
วันที่ ๒๒ — ๒๕ มกราคม ทำการสำรวจในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นายสุวิทย์ พันนาดี ฝ่ายประสานงานและวิชาการโครงการฯ
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๕๓ ๑๐๕ ๐๐๐๙
นางสาวอัมพิกา ก่อเจริญกิจ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และประสานงานอาสาสมัครโครงการฯ
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๓ ๕๙๑ ๒๓ ๗๒
นางสาวโสภิตา เสนาดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิฯ
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๗๑๒ ๙๕๑๕, ๗๑๒ ๙๗๑๕