กระทรวงดิจิทัลฯชี้เทคโนโลยีเพิ่มบทบาทรับยุคสมาร์ทซิตี้

ข่าวเทคโนโลยี Monday November 12, 2018 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลฯ (ดีอี) หนุนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เร่งนำเทคโนโลยียุคใหม่มาประยุกต์ใช้ ยกระดับประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการบูรณาการความร่วมมือข้ามหน่วยงาน รับแนวโน้มสังคมขับเคลื่อนสู่ดิจิทัล และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึง เรื่อง "การบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน" ว่า นับจากนี้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสูงขึ้นในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในยุคดิจิทัล แนวโน้มหลายประเทศทั่วโลกขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เมืองยั่งยืนมากขึ้น แนวโน้มข้างต้น ทำให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไม่สามารถพึ่งพาได้แค่กล้องซีซีทีวี, การเฝ้าระวังข้อความสนทนาทางโทรศัพท์, โทรศัพท์มือถือ หรืออินเทอร์เน็ต รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระงาน รวมทั้งช่วยการทำงานของตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในงานด้านนี้มากขึ้น นับเป็นบทบาทของกระทรวงฯ ในการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อรับเทรนด์โลกยุคใหม่ เพื่อภาครัฐกับการรับมือและลดผลกระทบจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ "ปฏิเสธใม่ได้ว่า ทุกวันนี้เราอาศัยอยู่ในยุคแห่งเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต. มาตรฐานในการดำรงชีวิตที่ดีของคนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันประเทศไทย ติดอันดับหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดด้านดิจิทัล" ดร. พิเชฐ กล่าว ทั้งนี้ รายงาน "ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล หรือ (World Digital Competitiveness Ranking)" ซึ่งจัดทำโดย สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ระบุผลการจัดอันดับล่าสุดในปี 2561 ว่า ประเทศไทยได้คะแนนขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 39 จาก 63 ประเทศที่ทำการสำรวจทั้งหมด และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และ มาเลเชีย ในส่วนของการรับมือเทรนด์โลกยุคใหม่ กระทรวงดิจิทัลฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงและเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2 ฉบับด้วยกัน คือ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กับ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในส่วนของ พ.ร.บ.ไซเบอร์ ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งรวมนักวิชาการ และสมาคม เพื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการคานอำนาจตรวจสอบและระบบบริหารจัดการ รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆที่ยังไม่ชัดเจนพอ เพื่อให้การดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะประมวลผลการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะที่ผ่านมาเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา และเมื่อได้ร่าง พ.ร.บ.เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายแล้ว จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ดร.พิเชฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้ขยับบทบาทมาสู่การเป็นฮับของอาเซียน และเป็นหนึ่งประเทศกลุ่มแรกๆ ในภูมิภาคนี้ที่เดินหน้าแผนงานส่งเสริมการ Smart City ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนประเทศให้รุดหน้า และก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (value-based economy) "เทคโนโลยีอัจฉริยะ , อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) คือตัวอย่างอันยอดเยี่ยม สำหรับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในแง่ของการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่า ด้วยการติดตั้งที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรม จะเป็นกลไกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพสำหรับการสร้างความเติบโต และความยั่งยืน" ปัจจุบัน ประเทศไทยกำหนดเมือง Smart City ไว้ 14 พื้นที่ โดยเริ่มนำร่องแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และกรุงเทพ บริเวณศูนย์กลางขนส่งบางซื่อ และมีแผนดำเนินการอีก 7 พื้นที่ ในปี 2562 ได้แก่ สงขลา นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก และย่านบางรัก ในกรุงเทพ ทั้งนี้ตามเป้าหมายจะพัฒนาครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ