กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
ครั้งแรกของการจัดอันดับดัชนีการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้มีการประเมิน 24 บริษัทชั้นนำในภูมิภาค ในด้านการสนับสนุนเพื่อเดินหน้าสู่การบรรลุมาตรฐานเป้าหมายด้านความยั่งยืน
อีสท์ เวสท์ ซีด (East-West Seed) ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักอันดับหนึ่งของประเทศไทย แซงหน้าบริษัทระดับโลกอย่าง Bayer และSyngenta ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของดัชนีการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (the Access to Seed Index for South and Southeast Asia) ซึ่งเป็นการจัดอันดับของภูมิภาคดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยดัชนีดังกล่าว เกิดจากการประเมินบริษัทเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคทั้งหมด 24 บริษัท เพื่อสนับสนุนการเติบโตด้านความสามารถในการผลิตของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์กรสหประชาชาติ (SDGs)
จากรายงานล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ[1] พบว่า ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรประมาณ 350 ล้านคนที่ขาดแคลนสารอาหาร ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ มีจำนวนประชากรเด็กในภูมิภาคนี้ที่ขาดสารอาหารประมาณ 30% และมีเกษตรกรรายย่อยที่เป็นผู้ผลิตอาหารมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ให้กับภูมิภาคนี้ ดังนั้น การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยกว่า 170 ล้านรายในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สามารถผลิตแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้มากขึ้น คือกุญแจสำคัญสู่ความมั่นคงและปลอดภัยทางด้านอาหารและโภชนาการ
ดัชนีการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย พบว่า บริษัทเมล็ดพันธุ์ชั้นนำหลายบริษัท มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กับทุกๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือการเพาะพันธุ์เมล็ดพืชมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศอินเดีย และประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นในอัฟกานิสถาน เนปาล ศรีลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา กำลังเสี่ยงต่อการล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากการลงทุนจากบริษัทชั้นนำในประเทศเหล่านี้ยังมีจำนวนน้อย โดยสรุปแล้ว ยังมีเกษตรกรรายย่อยในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บริษัทชั้นนำเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงอยู่มากถึง80%
ไอโด เวอร์ฮาเกน ผู้อำนวยการระดับสูงแห่งมูลนิธิเพื่อการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ (the Access to Seeds Foundation) กล่าวว่า "การเพิ่มผลผลิต การรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการเกษตร ทั้งหมดนี้ล้วนเริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเลือกใช้ ซึ่งอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์มีส่วนสำคัญในการพัฒนา ปรับปรุงด้านการเข้าถึง และความสามารถในการจับจ่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย"
อีสท์ เวสท์ ซีด คือผู้นำของอุตสาหกรรม ด้วยรูปแบบโมเดลธุรกิจที่สร้างขึ้นเพื่อเกษตรกรรายย่อย รวมถึงเพาะพันธุ์พืชเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะทาง ขายเมล็ดพันธุ์ในแพคเกจขนาดเล็ก และจัดตั้งการฝึกอบรม โดยฐานลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย (98 เปอร์เซ็นต์) หมายความว่า โมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งได้ผลกับทั้งเกษตรกรรายย่อย และตัวบริษัทเองนั้น สามารถเป็นไปได้จริง นอกจากนี้ ใน 10 อันดับแรกของบริษัทที่ติดอันดับดัชนีดังกล่าว มี 3 บริษัทเมล็ดพันธุ์จากประเทศอินเดีย และ 6 บริษัทเมล็ดพันธุ์ระดับโลกที่มาจากนอกภูมิภาค
ทั้งนี้ บริษัทที่ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ล้วนมีการดำเนินงานบนเวทีระดับโลก นอกจาก อีสท์ เวสท์ ซีด (อันดับ 1) Advanta (อันดับ 4) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มาจากในภูมิภาค ส่วนบริษัทอื่นๆ ได้แก่ Bayer (อันดับ 2), Syngenta (อันดับ 3) และ Corteva Agriscience[2] (อันดับ 5) ล้วนมีการเพาะพันธุ์ การผลิต และการจัดจำหน่ายในภูมิภาคมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเทียบเท่ากับการก่อตั้งบริษัทในภูมิภาค ทั้งนี้ ลูกค้าของ Bayer ในภูมิภาคนั้น มีสัดส่วนเป็นเกษตรกรรายย่อยมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์
"สิ่งที่เราเห็นจากดาต้าของเราคือ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ที่มีการแข่งขันสูง และขับเคลื่อนด้วยการวิจัย บริษัทต่างๆจากในภูมิภาคล้วนมีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการวิจัยและการพัฒนา ด้วยโปรแกรมเพาะพันธุ์พืชที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการเฉพาะทางของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งบริษัทระดับโลกอย่าง Bayer และ Syngenta ได้คะแนนอยู่ในอันดับสูง หมายความว่า พวกเขาได้กลายเป็นบริษัทที่มีรากฐานมั่นคงอยู่ในภูมิภาคนี้" เวอร์ฮาเกน กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ผลวิจัยจากดัชนีการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ยังพบว่า บริษัทที่ติดอันดับเหล่านี้ มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และ/หรือ สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเคร่งครัด และยังสามารถให้การสนับสนุนในด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมในภูมิภาคได้เช่นกัน
ในแง่ทรัพย์สินทางปัญญา ครึ่งหนึ่งของบริษัทเหล่านี้ ระบุอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้จำกัดการใช้พันธุ์พืชที่มีอยู่ในการเพาะพันธุ์อย่างต่อเนื่อง หรือใช้เพื่อการเก็บรักษาไว้ในฟาร์ม ผลวิจัยยังเผยว่า มีบริษัทบางแห่งที่วางกลยุทธ์ด้านราคาโดยเฉพาะสำหรับวัสดุ อุปกรณ์บางประเภท เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรรายย่อยจะสามารถหาซื้อได้
ดัชนีการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือหนึ่งในเกณฑ์มาตรฐานการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน (SDG) เกณฑ์แรกที่จัดขึ้นโดย World Benchmarking Alliance ดัชนีดังกล่าวถูกเปิดตัวในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นิวยอร์ค โดยการวัดและเปรียบเทียบผลการดำเนินงานขององค์กรบนเกณฑ์ SDG ดัชนีดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนมุ่งมั่นพัฒนาตนเองจนสามารถบรรลุเกณฑ์ SDG ได้สำเร็จ ทั้งนี้ ดัชนีการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือของมูลนิธิบิลและมาลินดาเกตส์ (Bill & Malinda Gates Foundation) และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์