กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "ลอยกระทงปลอดภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม" ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงการปฏิบัติตามวิถีชีวิตที่ดีงามของประชาชนชาวไทย ตลอดจนการดูแลชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของประชาชนซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางและมาตรการรณรงค์ช่วงประเพณีลอยกระทงปีนี้ มี 3 ด้าน 6 แนวทาง
1. รณรงค์ "ลอยกระทงปลอดภัย" ได้แก่ 1.1 ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยช่วงประเพณีลอยกระทง เช่น ไม่เล่นพลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย โคมไฟ ในที่ชุมชนหรือสถานที่ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุเพลิงไหม้ ไม่แต่งกายด้วยชุดล่อแหลม ร่วมกิจกรรมด้วยความสนุกสนานรื่นเริงมีน้ำใจไมตรีให้กัน และเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานลอยกระทง 1.2 ขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทางให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เพื่อรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนต่อผู้อื่นและตนเองและลดอุบัติเหตุจากการจราจรในช่วงประเพณีลอยกระทง และ 1.3 ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ทั้งทางน้ำและทางบก ตรวจสอบความเรียบร้อยของยานพาหนะที่จะใช้รับส่งประชาชนในช่วงประเพณีลอยกระทง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากที่สุด
2. รณรงค์ "สืบสานวัฒนธรรมไทย" ได้แก่ 2.1 ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันสืบสานประเพณีลอยกระทง โดยการปฏิบัติตามแนวทางของประเพณีที่เหมาะสม และการสร้างความรู้ ความอบอุ่นและส่งเสริมสถาบันครอบครัว อาทิ การร่วมกันประดิษฐ์กระทงและลอยกระทงร่วมกัน 2.2 ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ และประชาชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ตามประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี วัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักประเพณีลอยกระทง
3. รณรงค์ "ใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม" ได้แก่ 3.1 ส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้าร่วมประเพณีลอยกระทงใช้วัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่ายที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เช่น หยวกกล้วย กาบกล้วย ขนมปัง และใบตองมาประดิษฐ์กระทง ไม่ใช้พลาสติก โฟมและรณรงค์ให้แต่ละครอบครัว กลุ่มประชาชน หน่วยงานใช้กระทง 1 ใบ ตามแนวทาง "1 ครอบครัว 1 กระทง" หรือ "1 หน่วยงาน 1 กระทง" เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการอนุรักษ์น้ำให้ใสสะอาด และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในการใช้ทรัพยากรน้ำที่สะอาด ปราศจากมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายวีระ กล่าวด้วยว่า แนวทางและมาตรการรณรงค์ดังกล่าว เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีลอยกระทง ให้คงคุณค่า สาระและความงดงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่สามารถแสดงให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ อีกทั้งเป็นการเตรียมการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับความสุขจากประเพณีลอยกระทงและได้ร่วมสืบสานประเพณีที่สำคัญขอประเทศไทย อีกทั้งยังได้สัมผัสกับความงดงามของประเพณี วัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและมีมายาวนานของประเทศไทย รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีแก่สายตาชาวโลกที่จะชักจูงและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย ซึ่งจะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเกิดการขยายตัวและก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป