กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--ม.มหิดล
มลภาวะทางอากาศและเสียงของกรุงเทพมหานคร มีสาเหตุมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่แล้ว และเป็นปัญหาต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่รับผิดชอบงานด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียงของกรุงเทพมหานคร ควรจะได้พัฒนาความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ การระบุปัญหา การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา การกำหนดยุทธศาสตร์ ตลอดจนการจัดทำและปรับเปลี่ยนแผนปฏิบัติการและการประเมินผลงาน รวมทั้งการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ เพื่อสามารถควบคุมกำกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลภาวะที่ตรงประเด็น เป็นการลดปัญหามลภาวะทางอากาศ เสียง และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่มีประสิทธิภาพต่อไป
สำนักบริการเทคโนโลยีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “มลพิษทางอากาศและเสียง” สำหรับบุคลากรระดับผู้บริหารและนักวิชาการของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องที่สนใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ในหลักการเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศและเสียง มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดปัญหา การป้องกัน และการจัดการมลภาวะทางอากาศและสียง และสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศและเสียงในกรุงเทพมหานครได้
เนื้อหาของหลักสูตรแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ มลพิษทางอากาศ ๓๖ ชั่วโมง และ มลพิษทางเสียง ๓๖ ชั่วโมง หัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “หลักการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ”, “การเกิดมลพิษทางอากาศในเขตเมือง”, “การป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ”, “การจัดการมลพิษทางอากาศ”, “มลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร”, “หลักการเกี่ยวกับมลพิษทางเสียง”, “มลพิษทางเสียงในเขตเมือง”, “การป้องกันและควบคุมมลพิษทางเสียง”, “การจัดการมลพิษทางเสียง” และ “มลพิษทางเสียงกับกรุงเทพมหานคร” วิทยากรโดย รศ.ดร.ประยูร ฟองสถิตกุล รศ.ดร.สุทิน อยู่สุข และ รศ.ดร.วราวุธ เสือดี
รุ่นที่ ๑ จัดอบรมระหว่างวันที่ ๕ — ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๑ (สมัครภายใน ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑) รุ่นที่ ๒ อบรมระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน — ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑ (สมัครภายใน ๗ เมษายน ๒๕๕๑) ณ โรงแรมกานต์มณีพาเลซ ถนนประดิพัทธ์ สะพานควาย กรุงเทพฯ ค่าลงทะเบียนในการฝึกอบรม คนละ ๑๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ผู้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมอบรมโดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียน ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการฝึกอบรมครั้งนี้ได้จากต้นสังกัด ทั้งนี้เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว โดยสามารถชำระค่าอบรมด้วยตนเอง หรือธนาณัติ สั่งจ่าย ปณ.สามเสนใน ๑๐๔๐๐ ในนาม “ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม”
ผู้สนใจ download ใบสมัครได้ที่ www.ph.mahidol.ac.th/ophets ส่งใบสมัครพร้อมหลักฐานการชำระเงินถึง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ๔๒๐/๑ ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและฝึกอบรม สำนักบริการเทคโนโลยีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล โทร. ๐-๒๖๔๔-๖๖๓๘, ๐-๒๓๕๔-๘๕๕๗, ๐-๒๓๕๔-๘๕๔๓-๙ ค้อ ๕๓๐๑ โทรสาร ๐-๒๓๕๔-๘๕๕๙ E-mail: teunn@mahidol.ac.th, teaju@mahidol.ac.th