กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชัน
เนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ที่ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี การตระหนักรู้และเท่าทันโรคเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญ โรคเบาหวานไม่เพียงส่งผลกับคุณภาพชีวิต แต่ยังอาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลที่ดี เพราะฉะนั้นการป้องกันก่อนเกิดเบาหวานคือสิ่งสำคัญ การหันมาใส่ใจคนในครอบครัวจะช่วงให้ห่างไกลโรค หากทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และดูแลใส่ใจกันอย่างถูกวิธี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปพร้อมๆ กัน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ย่อมช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคเบาหวานได้
พญ.รุ่งทิพย์ ด่านศิริกุล อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า สมาชิกในครอบครัวนั้นมีหลากหลายวัย ดังนั้นในแต่ละช่วงวัยการดูแลให้ห่างไกลเบาหวานจึงมีความแตกต่างกัน เพราะการรับรู้และพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 วัย ดังนี้ 1.วัยเด็กถึงเด็กประถม พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ระวังน้ำตาล แป้ง และไขมัน เน้นให้ลูกดื่มน้ำเปล่าและนมรสจืด แทนน้ำหวานและน้ำอัดลม สอนให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือพ่อแม่ออกกำลังกายกับลูกหลังเลิกเรียน ในเด็กที่อายุมากกว่า 10 ปีและมีภาวะอ้วน ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลและวินิจฉัยโรคเบาหวาน 2.วัยรุ่น ในวัยนี้การปลูกฝังพฤติกรรมการกิน เน้นโปรตีนผักและผลไม้ ลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน และระวังน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ เน้นการออกกำลังกายเป็นประจำ พ่อแม่ควรสนับสนุนทางด้านกีฬาที่ลูกสนใจ แต่หากลูกติดเกมติดโซเชียลชอบนอนดูแต่ทีวี ต้องแนะนำให้ลูกทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมและใช้เวลาให้เหมาะสม 3.วัยทำงาน ควรมีการควบคุมเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ ระวังปริมาณแป้งและน้ำตาลในแต่ละวัน ถึงแม้จะนานแค่ไหนอย่าละเลยการออกกำลังกาย ควรทำให้ได้สัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ตรวจสุขภาพเช็กเบาหวานเป็นประจำทุกปี หากอยากมีบุตรต้องปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดเพราะผู้หญิงมีโอกาสเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ในผู้หญิงที่เคยมีบุตรแล้วและหลังคลอดเป็นเบาหวาน อาจมีโอกาสการเป็นเบาหวานในอนาคตได้ ซึ่งต้องดูแลตัวเองอย่างระมัดระวังมากกว่าผู้หญิงทั่วไป นอกจากนี้ถ้ามีกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวาน ก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น 50% เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้นความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานจะเพิ่มขึ้นตาม เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย และ 4.วัยสูงอายุ ระวังการทานแป้งและน้ำตาล ควบคุมปริมาณน้ำตาลในแต่ละวันอย่างเคร่งครัด เน้นการรับประทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง เพราะจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ออกกำลังกายสม่ำเสมอเน้นกีฬาที่ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ เช่น ยกเวท โยคะ เป็นต้น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำทุกปี หรือหากป่วยเป็นเบาหวานควรต้องดูแลตนเองและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
เทคนิคง่ายๆ เพื่อป้องกันเบาหวานคือ บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมต่อวัน เลือกรับประทานผลไม้น้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง มะละกอ ส้ม มะม่วงดิบ ส้มโอ แอปเปิลเขียว เป็นต้น ลดหรืองดชา กาแฟ น้ำอัดลม ขนมหวาน ทานได้สัปดาห์ละครั้ง เลือกทานคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี กากใยสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น อ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อพิจารณาปริมาณน้ำตาลที่แน่นอนก่อนซื้อมาทาน การแปรงฟันหรือบ้วนปากทันทีหลังอาหารช่วยลดความอยากของหวานหลังอาหารได้ สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำคือการออกกำลังกายให้เป็นนิสัยในทุกช่วงวัย และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำ
สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยเบาหวาน ทุกคนในครอบครัวควรให้กำลังใจและคอยดูแลอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างระมัดระวัง ลดน้ำตาล ลดแป้ง ควรห้ามใจไม่ให้ทานให้ได้เพื่อการมีสุขภาพที่ดี และสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ควรดูแลกันและเป็นทีมเดียวกัน โดยระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร รวมถึงปริมาณน้ำตาลในอาหาร และชวนกันไปออกกำลังกาย ที่สำคัญควรตรวจเช็กเบาหวานเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมหรือตามคำแนะนำของแพทย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร. 1719