กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีระงับอัคคีภัยแก่ อปพร. อาสาสมัคร และประชาชน เพื่อให้การเข้าระงับเหตุอัคคีภัยและการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายอุนชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าหนาว ลักษณะอากาศทั่วไป แห้งแล้ง มีลมกระโชกแรง เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย ซึ่งหากเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนแออัด ทางเข้าออกคับแคบ จะส่งผลให้การเข้าระงับอัคคีภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพื่อให้การระงับเหตุเพลิงไหม้ และการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ จึงได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติ ดังนี้ ให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัยอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผน เตรียมการ และปฏิบัติงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกรูปแบบในเขตท้องที่ รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เช่น กรณีที่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าระงับเหตุในแหล่งชุมชนได้ การฝึกซ้อมระงับภัยต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมีความพร้อมในการปฏิบัติงานตลอดเวลา ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการป้องกันอัคคีภัย แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทคนิคและวิธีการระงับอัคคีภัยอีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยดับเพลิงและรถดับเพลิง ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควรดำเนินการให้ความรู้แก่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครมูลนิธิ ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป ในเรื่องการป้องกันเพลิงไหม้ แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิธีการระงับอัคคีภัยที่มีประสิทธิภาพ เช่น วิธีการดับเพลิงที่ได้ผล สายส่งน้ำดับเพลิงไม่ควรอยู่ห่างจากรถดับเพลิงเกิน 100 เมตร เพราะแรงดันจะลดลงไป ประสิทธิภาพการดับเพลิงไม่เพียงพอ ตลอดจนเทคนิคการทลายบ้านที่กำลังจะถูกไฟไหม้ เพื่อสกัดกั้นไฟไม่ให้ลุกลามต่อไป ในรูปแบบการจัดประชุมชี้แจงหรือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกประเภทอย่างสม่ำเสมอ แนวทางสุดท้าย ได้แก่ การประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดับเพลิง โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการไฟฟ้า การประปา และการดับเพลิง ร่วมบูรณาการเครื่องมือ เครื่องใช้ระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ เน้นการประสานการปฏิบัติเมื่อรับแจ้งการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะการตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่เกิดเหตุ การจ่ายน้ำประปา เพื่อสนับสนุนการดับเพลิงให้รวดเร็วทันท่วงที รวมทั้งตรวจสอบสภาพ
การใช้งานของอุปกรณ์ดับเพลิงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะประปาหัวแดง (ท่อธารดับเพลิง) เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์อยู่เสมอ