กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--วีม คอมมูนิเคชั่น
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลต่อเนื่อง อนุมัติ 16 โครงการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ครอบคลุมทั้งเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การส่งออกนำเข้า ลดปัญหาจราจรบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งการลดปริมาณรถหัวลากเที่ยวเปล่า เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการใช้ดิจิทัลพัฒนาสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อขยายศักยภาพ EEC ต่อไปในอนาคต การส่งเสริม 13 สตาร์ทอัพไทยให้ร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเรียนรู้การเขียนคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ (coding) ให้เด็กไทย
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ได้มีมติให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเดือนตุลาคม 2561 ได้มีการอนุมัติ 16 โครงการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยโครงการ Smart Port Portal เป็นหนึ่งโครงการที่ depa เห็นชอบในหลักการโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งออกนำเข้า บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากเป็นประตูหลักของสินค้าส่งออกนำเข้าของ EEC และของประเทศไทย อาทิเช่น กำหนดการเรือเข้าออก รายการและกำหนดการส่งออกนำเข้าของแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ ระยะเวลาการเข้าออกของรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การส่งออกนำเข้า ลดปัญหาจราจร รวมทั้งการลดปริมาณรถหัวลากเที่ยวเปล่า ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจอย่างต่ำ 1,000 ล้านบาทต่อปี และเกิดผลกระทบเชิงบวกทางสังคมอย่างต่ำ 700 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการนี้ จะเป็นโครงการนำร่องในการใช้ดิจิทัลพัฒนาสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะ ในการขยายศักยภาพ EEC ต่อไป ในอนาคตอันใกล้
โครงการที่ทาง depa ให้การสนับสนุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่ EEC (Smart City-EEC) โดยครั้งนี้ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิด "เมืองเปิด เราปรับ ชีวิตเปลี่ยน" ด้วยการที่ depa เปิดโอกาสให้นักคิด นักธุรกิจ นักเทคโนโลยี หรือบริษัทที่สนใจจะร่วมพัฒนาเมือง ได้มีโอกาสเข้าใจบริบทของเมืองผ่านมุมมองของผู้บริหารเมืองและคนในพื้นที่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ผนวกกับการบ่มเพาะ (Accelerate) อย่างเป็นระบบ ภายใต้แคมเปญ Smart Cities EEC D-Boost Camp ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน จนตกผลึกและนำเสนอแผนพัฒนาเมืองต่อนักลงทุน (VC) ที่ทาง depa เชิญมาเป็นกรรมการคัดเลือกได้ 13 สตาร์ทอัพ ที่ผ่านการอนุมัติรับการสนับสนุนจาก depa ประกอบด้วยสตาร์ทอัพที่จะช่วยพัฒนาด้านระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) 1 ราย พัฒนาด้านระบบการขนส่งและการเดินทางอัจฉริยะ (Smart Mobility) 1 ราย พัฒนาด้านการดำเนินชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 5 ราย พัฒนาด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 4 ราย และพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2 ราย
อีกหนึ่งโครงการที่ depa เห็นชอบในหลักการ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุน คือ โครงการ The Coding Colosseum เพื่อให้เกิดแพลทฟอร์มแห่งการเรียนรู้ สู่ความเป็นนักพัฒนาชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ (coder) โดยจะมีการพัฒนาเกมหมูป่า เป็นเกมนำร่อง เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ด้วยความบันเทิง (Edutainment) สำหรับเด็ก ๆ หรือผู้ที่ไม่เคยมีพื้นฐานการเขียนคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ ได้มีการโอกาสเรียนรู้และฝึกโค้ดคำสั่งช่วยหมูป่า ภายใต้แนวคิด "ใคร ๆ ก็โค้ดได้" โดยนอกจากเกมหมูป่าแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเกมอิสระสามารถพัฒนาเกมการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ มาเผยแพร่ในแพลทฟอร์มนี้ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับการถามตอบ แบ่งปันองค์ความรู้ และศึกษารูปแบบชุดคำสั่ง (Source Code) ที่มีคนพัฒนาไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าโครงการ The Coding Colosseum นี้ จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,350 ล้านบาท และเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เพื่อเป็นแรงผลักดันประเทศสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0
นอกจากนี้ depa ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อขยายตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Internationalization Voucher) จำนวน 1 โครงการ เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีศักยภาพได้มีโอกาสขยายธุรกิจและออกงานประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ โดยคาดว่าจะทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการหลังเข้าร่วมงาน เพิ่มขึ้นภายใน 6 เดือน