กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือ และการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี โดยประสาน 16 จังหวัด ภาคกลางและภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย ช่วงวันที่ 14 - 22 พ.ย. 61 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือ และการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 7 – 14 พฤศจิกายน 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และเพชรบุรี กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมญวนเข้าสู่อ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยช่วงวันที่ 14 - 17 พฤศจิกายน 2561 จะมีฝนตกร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนช่วงวันที่ 18 - 22 พฤศจิกายน2561 จะมีฝนตกร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง กอปภ.ก.จึงได้ประสาน 16 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนัก โดยดำเนินการผ่านวิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี สื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร่องน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด พื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมฉันพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศ เตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง