กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--เอ.พี.ฮอนด้า
"ทีมนายฮ้อยทมิฬ" สกลนคร สุดเจ๋ง โชว์ศักยภาพประดิษฐ์รถประหยัดน้ำมัน 1 ลิตรวิ่งได้ไกลถึง 1,792.8710 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 30.3100 กม./ชม. ในศึก "ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิงครั้งที่ 21" ผงาดคว้าแชมป์พร้อมครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจับมือทีม "ทุ่งหลวง 1" จากปทุมธานี คว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนเยาวชนไทยเดินทางไปชิงชัยระดับนานาชาติที่ญี่ปุ่น
บริษัท เอ. พี. ฮอนด้า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย ผนึกกำลังร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ และ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทยสปอร์ตติ้งกู๊ด จำกัด จุดพลังฝันให้เด็กไทยเติบโตสู่การเป็นวิศวกรที่มีคุณภาพ ด้วยการสานต่อกิจกรรมที่มีมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษกับการแข่งขัน "ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง" Honda Eco Mileage challenge ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปีที่ 21 ประจำปี 2561 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "น้ำมันหนึ่งลิตร จะวิ่งได้ไกลแค่ไหน" ณ สนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในสายอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ได้แสดงความสามารถในการออกแบบและประดิษฐ์ยานพาหนะที่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด โดยทีมชนะเลิศสถิติสูงสุด จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้สิทธิเข้าร่วมแข่งขันรถประหยัดเชื้อเพลิงระดับนานาชาติรายการ ฮอนด้า โซอิชิโร คัพ (Honda Soichiro Cup) ครั้งที่ 39 ในปี 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น
ล่าสุด ในการแข่งขันประเภทรถประดิษฐ์ ระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นไฮไลท์ของรายการ ได้โฉมหน้าทีมชนะเป็นที่เรียบร้อย คือ ทีม "นายฮ้อยทมิฬ" หมายเลข 304 จากวิทยาลัยการอาชีพ สว่างดินแดน จ.สกลนคร หลังโชว์ความสามารถประดิษฐ์รถที่ใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด โดยมีสถิติใช้น้ำมันเพียง 1 ลิตร วิ่งได้ถึง 1,792.8710 กม. และมีความเร็วเฉลี่ย 30.3100 กม./ชม. คว้าแชมป์และคว้าถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครองได้สำเร็จ พร้อมควงแขนทีม "ทุ่งหลวง 1" หมายเลข 156 จากวิทยาลัยเทคนิค ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่ทำสถิติค่าประหยัด 1,125.4410 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 31.4430 กม./ชม. คว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนเยาวชนไทย เดินทางไปแสดงศักยภาพในการแข่งขันรถประหยัดเชื้อเพลิงระดับนานาชาติรายการ ฮอนด้า โซอิชิโร คัพ ครั้งที่ 39 ในปี 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ รางวัลชนะเลิศ ในประเภทอื่นๆ มีดังนี้ ประเภทรถประดิษฐ์ ระดับอุดมศึกษา แชมป์ตกเป็นของทีม "ตะโกราย.1" หมายเลข 515 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน นครราชสีมา จ.นครราชสีมา ค่าประหยัด 1,034.1890 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 31.4120 กม./ชม. ตามด้วยอันดับ 2 ทีม "ตะโกราย.2" หมายเลข 516 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน นครราชสีมา จ.นครราชสีมา ค่าประหยัด 1,002.4510 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 30.4960 กม./ชม. และอันดับ 3 ทีม "Mechanical Salaya1" หมายเลข 512 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลรัตนโกสินทร์จ.นครปฐม ค่าประหยัด 746.1140 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 30.3390 กม./ชม.
รางวัลชนะเลิศ ประเภทรถประดิษฐ์ ระดับประชาชนทั่วไป อันดับ 1 ทีม " Infernal deva"หมายเลข 602 จากร้านซ้งบริการ จ.นครปฐม ค่าประหยัด 1,124.4960 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 30.8590 กม./ชม. อันดับ 2 ทีม "ช่างวุฒิ" หมายเลข 605 จากบอลหนองมะค่า จ.ราชบุรี ค่าประหยัด 1,035.7880 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 31.0360 กม./ชม. และอันดับ 3 ทีม "ชมรม ศิษย์เก่าช่างยนต์" จากโรงเรียนเทศบาล ๔ (เพาะชำ) หมายเลข 603 จ.นครราชสีมา ค่าประหยัด 884.5930 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 30.6980 กม./ชม.
รางวัลชนะเลิศ ประเภทรถตลาด อันดับ 1 ทีม "ราโพเรซซิ่งทีม 1" หมายเลข 703 จากวิทยาลัยสารพัดช่างตรัง จ.ตรัง ค่าประหยัด 238.0000 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 30.9920 กม./ชม. อันดับ 2 ทีม "ยอดดอย" หมายเลข 706 จากวิทยาลัยเทคนิค เชียงราย จ.เชียงราย ค่าประหยัด 228.7830 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 30.7540 กม./ชม. และอันดับ 3 ทีม "AITC Racing" หมายเลข 761 จากวิทยาลัยเทคนิค อุตสาหกรรมยานยนต์ จ.พระนครศรีอยุธยา ค่าประหยัด 221.2840 กม./ลิตร ความเร็วเฉลี่ย 32.1110 กม./ชม.
รางวัลชนะเลิศ ประเภทรถประดิษฐ์สวยงาม อันดับ 1 ทีม "Panjavidhya2" หมายเลข 102 จากวิทยาลัยเทคโนโลยี ช่างฝีมือปัญจวิทยา ลำลูกกา จ.ปทุมธานี อันดับ 2 ทีม "ลูกพระกาฬ 1" หมายเลข 268 จากวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จ.ลพบุรี และ อันดับ 3 ทีม "วิทยาลัยเทคนิคตาก" หมายเลข 234 จากวิทยาลัยเทคนิคตาก จ.ตาก
สำหรับการแข่งขันรถ "ฮอนด้าประหยัดเชื้อเพลิง" Honda Eco Mileage Challenge ณ สนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทรถประดิษฐ์ และประเภทรถตลาด โดยประเภทรถประดิษฐ์ คือ ประเภทรถแข่งที่ทีมแข่งจะต้องประดิษฐ์ตัวถังขึ้นเองทั้งหมด พร้อมติดตั้งเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด PGM-Fi ที่ฮอนด้าให้การสนับสนุน ซึ่งในประเภทรถรถประดิษฐ์นี้จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามสถานศึกษา 3 ระดับ คือ ระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และ ระดับประชาชนทั่วไป ส่วนประเภทรถตลาด เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าแข่งขันได้โดยใช้รถจักรยานยนต์ฮอนด้าเวฟ110i ฮอนด้าซีแซดไอ และ ฮอนด้าดรีม110i โดยสามารถปรับแต่งเครื่องยนต์ได้ตามกติกาที่กำหนด ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำความเร็วในสนามอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า30 กม./ชม และกำหนดจำนวนรอบสำหรับรถประดิษฐ์ที่ 4 รอบ และ 2 รอบสำหรับรถตลาด ซึ่งระยะทางรวมของสนามต่อรอบอยู่ที่ 4.554 กิโลเมตร สำหรับการวัดค่าประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง จะคำนวณจากน้ำหนักของน้ำมันที่ใช้ไปในระหว่างการแข่งขัน ทีมที่มีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยที่สุด จะเป็นผู้ชนะ และรถทุกคันจะต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการโดยละเอียด
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.hondaeconothai.com