กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
นโยบายสาธารณะที่ดีเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 12-14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กลุ่ม the Think Tank Initiative (TTI) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDRC) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนคลังสมองระดับนานาชาติ 2561 : องค์กรที่ยั่งยืน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Think Tank Initiative Exchange 2018: Sustainable Organizations for Sustainable Development) ขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้สถาบันคลังสมองในประเทศกำลังพัฒนา 43 องค์กรใน 20 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยโดย "ทีดีอาร์ไอ" มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายสาธารณะกว่า 20 ประเด็นท้าทายในโลกอนาคต ซึ่งสถาบันคลังสมองจะมีบทบาทสำคัญมาก ส่วนกรณีประเทศไทยยังควรสนับสนุนการมีสถาบันคลังสมองในด้านต่างๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายสาธารณะที่ดีเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีงานที่ดีทำ สังคมอยู่กันด้วยความสงบสุข สามารถแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี บทบาทสำคัญประการหนึ่งของพรรคการเมืองภายใต้ระบบประชาธิปไตย คือ การนำเสนอนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง บางครั้งนโยบายที่ทำให้รัฐบาลได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอาจไม่ใช่นโยบายสาธารณะที่ดี นี่จึงเป็นหน้าที่สำคัญของนักวิชาการโดยเฉพาะสถาบันวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ (หรือที่รู้จักกันในนาม "สถาบันคลังสมอง") ที่จะช่วยนำเสนอนโยบายสาธารณะที่ดีต่อประชาชนและพรรคการเมือง ตลอดจนการสื่อสารและเปิดโอกาสให้สังคมมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของนโยบายสาธารณะด้านต่าง ๆ กระบวนการวิจัยและจัดทำนโยบายสาธารณะที่วางอยู่บนรากฐานของข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ ตลอดจนกระบวนการที่สังคมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะที่นำเสนอ โดยสถาบันคลังสมอง จะทำให้พรรคการเมืองมีข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่ดีให้เลือกใช้ในการรณรงค์หาเสียง และที่สำคัญประชาชนจะมีความรู้เรื่องผลกระทบด้านต่างๆของนโยบายของพรรคเมืองต่างๆ ทำให้การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเป็นการตัดสินใจแบบผู้รู้เท่ากัน
แม้ประเทศไทยจะมีสถาบันวิจัยที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะ แต่ก็ยังมีสถาบันด้านนโยบายสาธารณะเพียงน้อยแห่ง เรายังขาดสถาบันคลังสมองในหลายๆด้าน โดยเฉพาะสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะด้านการเมือง ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านธุรกิจ เป็นต้น แม้ไทยมีสถาบันวิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่าง ทีดีอาร์ไอ หรือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือด้านการเมืองอย่างสถาบันพระปกเกล้า แต่ถ้าประเทศมีสถาบันวิจัยในด้านเหล่านี้มากแห่งขึ้น สังคมก็จะมองเห็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ และมีมุมมองที่แตกต่างจากแนวคิดของสถาบันที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ ทีดีอาร์ไอ จึงร่วมมือกับ Think Tank Initiative(TTI) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการก่อตั้งสถาบันคลังสมองในประเทศกำลังพัฒนารวม 43 องค์กร ให้มาจัดเสวนาเรื่อง Sustainable Organizations for Sustainable Development ครั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยและนักวิชาการที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะจะได้เห็นและเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของสถาบันคลังสมองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งจากลาตินอเมริกา อาฟริกา เอเซียใต้ และจีน ทำให้ทราบประเด็นนโยบายสาธารณะที่มีความหลากหลาย และความแตกต่างกันเรียนรู้วิธีการทำงานและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ตลอดจนแนวทางการปรับตัวของสถาบันคลังสมองในอนาคต เพื่อรับมือกับบริบทการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี การเมือง สังคมสูงอายุ เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยในการเสวนาจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีประเด็นด้านนโยบายสาธารณะกว่า 20 ประเด็น อาทิเช่น เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน การเข้าถึงน้ำ พลังงาน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเกษตรและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การสร้างสถาบันที่มีธรรมรัฐความยุติธรรมและความสงบสุข การเติบโตทางเศรษฐกิจกับการมีงานทำที่ดี สุขภาพและการศึกษา ฯลฯ
นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำงานวิจัยนโยบายสาธารณะของทีดีอาร์ไอซึ่งก่อตั้งมานานกว่าสถาบันคลังสมองอื่นในเวทีเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ 1) ตัวอย่างความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ 2) แนวทางการใช้งานวิจัยที่อาศัยข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อคัดค้านนโยบายที่ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อสังคม เช่น การจำนำข้าว พรีเมียมข้าว 3)การกำหนดโจทย์วิจัยนโยบายสาธารณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว และแนวทางการระดมทุนภายใต้ความท้าทายด้านเงินทุนวิจัย เช่น การวิจัยด้านการศึกษา และ 4) แนวทางการใช้ความรู้ สื่อสังคม และการร่วมมือกับสื่อประเภทต่างๆในการรณรงค์และให้ความรู้เรื่องผลกระทบของนโยบายสาธารณะ ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
แชนนอน ซัททัน (Shannon Sutton) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเสริมสร้างสมรรถนะและการสาธารณสุขโลก ของกลุ่มThink Tank Initiative(TTI) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ(IDRC) กล่าวว่า TTI เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกันของหน่วยงานให้ทุน 5 หน่วยงานโดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ IDRC สนับสนุนการดำเนินงานของ TTI ต่อเนื่องมา 10 ปี ซึ่งสิ้นสุดในปีนี้และพบว่ามีผลสำเร็จในหลายประการ คือ กลุ่ม Think Tank Initiative ได้สนับสนุนและเสริมสร้างความศักยภาพขององค์กรคลังสมองกว่า 43 แห่งใน 20 ประเทศ ผ่านการให้ทุนเอื้อต่อการสร้างโจทย์วิจัยใหม่ๆ จึงทำให้องค์กรคลังสมองเหล่านั้นสามารถเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของงานวิจัยในท้องถิ่นได้อย่างมีคุณภาพและเป็นอิสระ การที่TTI สร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจสู่สาธารณชนทำให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการจัดทำนโยสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคนั้นจะตั้งอยู่บนข้อถกเถียงที่สำคัญของผลการศึกษาวิจัย นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในแนวทางการสนับสนุนองค์กรคลังสมองเหล่านี้ให้ยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการยกระดับศักยภาพขององค์กรคลังสมอง โดยเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ ด้านระเบียบวิธีวิจัยและทักษะต่าง ๆ ด้านการงานวิจัยนโยบายสาธารณะและการเสริมสร้างความเข้าใจสู่สาธารณชน และด้านการทำงานขององค์กรคลังสมองเพื่อที่จะบรรลุประสิทธิผลสูงสุด
TTI ใช้โอกาสการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ สนับสนุนผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน โดยมีผู้เข้าร่วมจากสถาบันคลังสมองในประเทศกำลังพัฒนากว่า 250 คน ที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานผู้ให้ทุน ผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัย รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในความสำเร็จตลอดระยะเวลาการทำงานกว่าทศวรรษของ TTI โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ "การมีองค์กรคลังสมองที่ยั่งยืนเพื่อสอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืน" และคำถามที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ "องค์กรคลังสมองจะสามารถยืนหยัดบทบาทที่สำคัญในการเสริมสร้างและสนับสนุนการสร้างสังคมที่มีเที่ยงธรรมและความมั่งคั่งได้อย่างไร?" จากความสำเร็จของ TTI จึงเป็นไปได้ที่ในระยะต่อไปจะขยายการสนับสนุนไปในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพิ่มเติม
อเล็กซ์ อะวิติ (Alex Awiti) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันอาฟริกาตะวันออก (the East Africa Institute) แห่งมหาวิทยาลัย อะกา คาน (Aga Khan University) กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความสามารถหรือสมรรถภาพของสถาบันคลังสมองที่เข้าร่วม เสมือนการได้ร่วมลงทุนครั้งใหญ่ของโลก เป็นการรวบรวมข้อมูลซึ่งองค์กรคลังสมอง43 แห่ง ใน 20 ประเทศเหล่านี้ได้มารวมตัวกันและร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อวิเคราะห์และหาคำตอบที่เป็นไปได้และสามารถวางใจได้ว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และประเด็นสุดท้ายคือ องค์กรคลังสมองทั้งหมดจะมาร่วมกันกำหนดทิศทางขององค์กรคลังสมองในอนาคตและผลักดันให้เกิดการทำวิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อเป็นคลังความรู้ของสังคมนำไปใช้มีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแต่ละประเทศ
แอนเดรีย ออโดเนส (Andrea Ordóñez) ผู้อำนวยการกลุ่มเสียงจากทางใต้ (Southern Voice) เป็นกลุ่มองค์กรคลังสมองที่อุทิศตนและทุ่มเทเพื่องานวิจัยในแถบประเทศทางซีกโลกใต้เพื่อนำข้อมูลวิจัยเข้าสู่ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาในระดับโลก กล่าวเสริมว่า กลุ่มองค์กรคลังสมอง (think tanks) เป็นคณะองค์กรที่ทำงานวิจัยเพื่อหาคำตอบให้กับประเด็นด้านการพัฒนาที่ซับซ้อนยุ่งยากมากที่สุดในโลกหลายประเด็น องค์ความรู้ที่กลุ่มองค์กรคลังสมองได้พยายามพัฒนาและเผยแพร่สู่สาธรณชนนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนทัศน์การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 ซึ่งในการจัดการกับประเด็นด้านการพัฒนาหลายๆประเด็น ต้องการนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ กลุ่ม Southern Voice ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ที่จะช่วยสนับสนุนกระบวนการนี้ ในประเด็นปัญหาที่สำคัญบางประการ เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการค้า ปัญหาเหล่านี้ต้องการความร่วมมือกันทำงานในระดับโลก จากการประสานความร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เช่น การทำงานของกลุ่มเสียงจากทางใต้ (southern voice) ก็เพื่อให้มั่นใจว่าองค์ความรู้และมุมมองจากประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่มีส่วนในการช่วยแก้ไขประเด็นปัญหาระดับโลกนี้