กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--เออีซี คอนซัลท์ แอนด์ คอนเนคท์
สภาธุรกิจไทย – กัมพูชา จับมือ สสปน. ผลักดันโครงการ CVTEC ดึงเอกชน กัมพูชา เวียดนาม ไทย ร่วมพัฒนาเชื่อมโยงการค้า การขนส่ง ท่องเที่ยวและไมซ์ แนวฝั่งทะเล 3 ประเทศ เสริมศักยภาพระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ และ EEC
สภาธุรกิจไทย – กัมพูชา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และสมาคมส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศตามแนวเส้นทางสายไหมใหม่ จัดทำโครงการประชุมนานาชาติ เพื่อความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ กัมพูชา-เวียดนาม-ไทย ครั้งที่ 1 หรือ 1st Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor Cooperation Conference ( CVTEC) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การขนส่ง การท่องเที่ยวและไมซ์ และด้านการพัฒนาบุคลากรในภาคบริการ ในพื้นที่แนวฝั่งทะเลระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ 3 ประเทศ ของ กัมพูชา เวียดนาม และไทย
โดย นายนิยม ไวยรัชพานิช ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย – กัมพูชา กล่าวถึงการจัดทำโครงการ CVTEC ว่า สภาธุรกิจไทย – กัมพูชา ได้เล็งเห็นว่า การพัฒนาส่งเสริมให้เกิดเส้นทางการเชื่อมโยงบนพื้นที่ระเบียงชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆว่า เส้นทาง CVTEC นั้น จะช่วยเสริมต่อศักยภาพบนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ หรือ Southern Economic Corridor (SEC) ซึ่งครอบคลุมเขตติดต่อ 3 ประเทศ กัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตเส้นทาง CVTEC มีโอกาสเชื่อมโยงกับเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt, One Road (OBOR) โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมทางทะเล หรือ "Maritime Silk Road" ที่เริ่มจากเมืองชายฝั่งของจีน โดยมียุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทางทะเลและท่าเรือต่างๆ ตามเส้นทางที่เส้นทางสายไหมทางทะเลพาดผ่าน ประกอบกับรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ได้ให้ความสำคัญที่จะยกระดับการประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาแนวการค้าการลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้านชายฝั่งทะเลเพิ่มมากขึ้น สภาธุรกิจไทย – กัมพูชา ในฐานะที่เป็นองค์กรเอกชนที่มีบทบาทในการผลักดันและส่งเสริมด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา เห็นว่าหากภาคเอกชนขานรับและสานต่อนโยบายของภาครัฐ ในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของภาคเอกชนทั้ง 3 ประเทศ ก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้เดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม และรวดเร็วขึ้น สภาธุรกิจไทย – กัมพูชา จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการ CVTEC ขึ้น โดยได้ประสานขอความร่วมมือกับภาคธุรกิจของจังหวัดต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ประกอบด้วย จังหวัดพระสีหนุ จังหวัดเกาะกง จังหวัดแกบ จังหวัดกัมปอต และจังหวัดตาแกว ราชอาณาจักรกัมพูชา จังหวัดกาเมา และจังหวัดเกียนยาง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ประเทศไทย ในการเปิดเวทีความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยได้รับการตอบรับจากทุกจังหวัดอย่างดี
ด้าน นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการส่งเสริมการตลาดในประเทศ สสปน. กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการ CVTEC ว่า สสปน. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ การจัดประชุม (Meetings) การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel) การจัดประชุมนานาชาติ (Conventions) การจัดงานแสดงสินค้า (Exhibitions) รวมถึงด้านการพัฒนาบุคลากรด้านบริการ โดย สสปน.มีนโยบายในการนำกลไกไมซ์เข้าไปช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่จะสามารถต่อยอด และพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่ง โครงการ CVTEC เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ สสปน. เล็งเห็นแล้วว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพ โดยเป็นความร่วมมือกันของภาคเอกชนในการสานต่อนโยบายของรัฐบาลของ 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในการประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาแนวการค้าการลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ หรือ Southern Economic Corridor (SEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก และยังเชื่อมโยงกับ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล รวมทั้งยังเชื่อมโยงกับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone – SEZ) จังหวัดตราด อีกด้วย ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการจัดประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดเวทีให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาการค้าการลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้อีกด้วย โดย สสปน.จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้แก่ภาครัฐและเอกชนจากทั้งในไทย กัมพูชาและเวียดนาม ให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางมาท่องเที่ยวในลักษณะการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และงานแสดงสินค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
สำหรับวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันการเปิดการค้า การขนส่ง การท่องเที่ยว และไมซ์ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ แนวชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ ประกอบด้วย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาและประชาสัมพันธ์เผยแพร่การให้บริการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่แนวฝั่งทะเลระเบียงเศรษฐกิจของกัมพูชาและไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเพื่อพัฒนาบุลคากรและทักษะการให้บริการด้านการท่องเที่ยว โดยทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือกันในการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้า การขนส่ง การท่องเที่ยว และการลงทุน ในพื้นที่แนวฝั่งทะเลระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (กัมพูชาและไทย) , สร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจของสองประเทศ และจะผลักดันรัฐบาลของกัมพูชาและไทยให้บรรลุข้อตกลงสิทธิการเดินเรือตามแนวชายฝั่ง ในเส้นทางพัทยา (ราชอาณาจักรไทย) และเกาะกง กัมปอต และแกบ (ราชอาณาจักรกัมพูชา) ให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ นางดวงใจ จันทร รองประธานสภาธุรกิจไทย – กัมพูชา ได้กล่าวว่า "เป้าหมายที่สภาธุรกิจไทย – กัมพูชาได้วางไว้ในข้างต้น คือ การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงของภาคเอกชนที่นำโดยหอการค้า 4 จังหวัดภาคตะวันออกของไทย ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และ จังหวัดตราด และ หอการค้า จังหวัดเกาะกง จังหวัดพระสีหหนุ จังหวัดกัมปอต ตาแกว-แกบ ของราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมทั้ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศมาร่วมด้วย ซึ่งในอนาคตสภาธุรกิจฯ มีแผนจะผลักดันการเชื่อมโยงสู่ จังหวัดกาเมา และจังหวัดเกียนยาง ของประเทศเวียดนาม โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันกับผู้แทนของทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งผู้แทนของทั้ง 3 ประเทศ ได้เห็นชอบถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่แนวฝั่งทะเลไทย กัมพูชา และเวียดนาม แล้ว แต่ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศเวียดนาม มีระเบียบขั้นตอนในการพิจารณาเกี่ยวกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถร่วมลงนามในปีนี้ได้ ทำให้ต้องลงนามระหว่างภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนของกัมพูชา นำร่องไปก่อน แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ทั้ง 3 ประเทศ ก็ยังคงเดินหน้าผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่แนวฝั่งทะเลร่วมกัน และสภาธุรกิจไทย – กัมพูชา ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้แทนของประเทศเวียดนามจะสามารถมาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ได้ในครั้งต่อไป" นางดวงใจ กล่าว