กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไออนุมัติ 3 โครงการใหญ่ เงินลงทุนกว่า 21,774 ล้านบาท ทั้งโครงการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กจากจีน ขยายฐานมาไทยครั้งแรกเล็งเปิดตลาดอาเซียน ด้านออโต้อัลลายแอนซ์ ลงทุนรถยนต์ไฮบริด และปตท.เดินหน้าในเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นที่ "อีอีซีไอ" ปูทางพัฒนางานวิจัยด้านหุ่นยนต์ เกษตรสมัยใหม่ การบินและเทคโนโลยีอวกาศ
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 21,774.6 ล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประกอบด้วย
1.บริษัท โปรเจน โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,693 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา โดยโครงการนี้ เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัท โปรเจนกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกรายใหญ่ ที่ขยายฐานการผลิตจากเดิมที่มีโรงงานผลิต 5 แห่งในประเทศจีน เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อรองรับตลาดในแถบอาเซียน ทั้งนี้ รถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกที่ผลิตได้ในโครงการนี้ จะเป็นประเภทที่ได้มาตรฐานการปล่อยไอเสียระดับยูโร 5 และจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ระบบปรับอากาศ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายใน มูลค่ารวมประมาณ 13,702 ล้านบาทต่อปี
2.บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV)เงินลงทุนทั้งสิ้น 11,481.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โดยบริษัทได้เสนอแผนงานรวมในการลงทุนตามที่กำหนด อาทิ โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ โครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 19,461 ล้านบาทต่อปี
3.บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นพื้นที่เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์
โดยครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.ARIPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเครื่องจักร 2.BIOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และ 3.SPACE INNOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ