กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ธนาคารเกียรตินาคิน
บลจ.ภัทร ขยายนโยบายการลงทุนของกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุน พร้อมออก 3 กองทุนเด่น เป็นทางเลือกการลงทุนพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษีในโค้งสุดท้ายของปี เสนอขาย IPO ในวันที่ 19 พ.ย.-7 ธ.ค. นี้ เน้นการลงทุนในทรัพย์สินที่หลากหลาย และหุ้นของบริษัทชั้นนำข้ามชาติที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของโลก เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ.ภัทร) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดตัวกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพใหม่จำนวน 3 กองทุนประกอบด้วยกองทุนเปิดภัทร สตราทิจิค แอสเซ็ทอโลเคชั่น เพื่อการเลี้ยงชีพ (Phatra Strategic Asset Allocation Retirement Fund - PHATRA SG-AA RMF), กองทุนเปิดภัทร โกลบอล นิว เพอร์สเปกทีฟ เพื่อการเลี้ยงชีพ อันเฮดจ์ (Phatra Global New Perspective Retirement Fund-Unhedged - PHATRA GNP RMF-UH) และกองทุนเปิดภัทร โกลบอล นิว เพอร์สเปกทีฟ เพื่อการเลี้ยงชีพ เฮดจ์(Phatra Global New Perspective Retirement Fund-Hedged - PHATRA GNP RMF-H) โดยทั้งสามกองทุนเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2561
กองทุนเปิดภัทร สตราทิจิค แอสเซ็ท อโลเคชั่น เพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ PHATRA SG-AA RMF เป็นกองทุนที่เน้นกระจายการลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ตราสารหนี้ ตราสารทุน ทรัพย์สินทางเลือก ทั้งในและต่างประเทศสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทจัดการและตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์แต่ละขณะ และเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลงทุนในช่วงแรก กองทุน PHATRA SG-AA RMF อาจพิจารณาลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน PHATRA SG-AA ที่มีการกระจายการลงทุนไปยังทรัพย์สินหลากหลายประเภทภายใต้กรอบการให้คำแนะนำในด้านการลงทุนที่ระบุไว้ในบทวิเคราะห์ Asset Allocation ที่ได้รับจากที่ปรึกษาการลงทุน ซึ่งก็คือบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) การกระจายการลงทุนนี้จะช่วยลดความผันผวนและช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว ดังนั้น กองทุน PHATRA SG-AA RMF จึงเป็นกองทุนที่จะตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว และยังกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภท โดยผู้ลงทุนไม่ต้องทำเอง
ส่วนอีก 2 กองทุน กองทุนเปิดภัทร โกลบอล นิว เพอร์สเปกทีฟ เพื่อการเลี้ยงชีพ อันเฮดจ์ หรือ PHATRA GNP RMF-UH และกองทุนเปิดภัทร โกลบอล นิว เพอร์สเปกทีฟ เพื่อการเลี้ยงชีพ เฮดจ์ PHATRA GNP RMF-Hเป็นกองทุน Feeder Fund ที่ลงทุนในกองทุนรวมหลักเพียงกองเดียวคือ Capital Group New Perspective Fund (LUX) ลงทุนในหุ้นของบริษัทชั้นนำทั่วโลกซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่แข็งแกร่ง โดยกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของโลกในอนาคต เช่น การขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ต การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางและกำลังบริโภคของ Emerging Market รวมทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กองทุนนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายเงินลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศ
เพื่อเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการจัดสรรการลงทุนที่สอดคล้องกับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของผู้ลงทุน สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน สามารถเลือกลงทุนในกองทุน PHATRA GNPRMF-H ซึ่งมีนโยบายการลงทุนเหมือนกับ PHATRA GNP RMF-UH แต่กองทุน PHATRA GNP RMF-H จะป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินฐาน (Base Currency) ของหน่วยลงทุนของกองทุนหลัก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับนักลงทุน
นายยุทธพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "บลจ.ภัทร ให้ความสำคัญกับการออกกองทุน โดยเชื่อว่าทั้ง3 กองทุน RMF ข้างต้นจะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุนที่หลากหลาย เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว เก็บออมไว้ใช้ยามเกษียณ พร้อมรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีและเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ด้านมุมมองการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2561 ตลาดการลงทุนทั่วโลกยังคงมีความผันผวนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณการชะลอตัวการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีความชัดเจน สำหรับราคาน้ำมันดิบยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่อประเทศอิหร่าน และการประชุมของกลุ่มOPECที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยในสภาวะที่ตลาดมีความผันผวนนี้ การลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังและต้องติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด บลจ. ภัทร แนะนำให้ผู้ลงทุนควรเน้นกระจายเงินลงทุนไปในทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนโดยรวมและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว โดยเชื่อว่ากองทุน PHATRA SG-AA RMF PHATRA GNP RMF-UH PHATRA GNP RMF-H จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุนโดยเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ และแนะนำให้ผู้ลงทุนควรใช้วิธีการลงทุนแบบ Dollar Cost Average (DCA) หรือการทยอยลงทุนทุกเดือน ซึ่งนอกจากจะช่วยเฉลี่ยต้นทุนในการเข้าลงทุนแล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยที่ดีในการออมให้กับผู้ลงทุนอีกด้วย"
สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถขอหนังสือชี้ชวนได้ที่ ธนาคารเกียรตินาคินทุกสาขา หรือ KKP Contact Center 02 165 5555 และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร โทร. 02 305 9559 หรือ www.phatraasset.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้งตามหนังสือชี้ชวนโดยผู้ลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้ที่ขั้นต่ำ 1,000 บาท
คำเตือน :
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนความเสี่ยงข้อมูลสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งศึกษาเงื่อนไขการลงทุน และผลกระทบในกรณีลงทุนผิดเงื่อนไข
- ผู้ถือหน่วยจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน และจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
- กองทุน PHATRA SG-AA RMF ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือไม่รับเงินต้นคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- กองทุน PHATRA GNP RMF-UH จะระดมเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยเป็นรูปสกุลเงินบาทและนำเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหลักเป็นสกุล เงินดอลล่าร์สหรัฐ โดยกองทุนอาจเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจ ของผู้จัดการกองทุน
- เนื่องจากกองทุน PHATRA GNP RMF-UH ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- PHATRA GNP RMF-H จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตรา แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของของเงินลงทุนในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินฐาน (Base Currency) ของหน่วยลงทุน ของกองทุนหลักกลับมาเป็นสกุลเงินบาทเกือบทั้งหมด โดยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยกองทุน อาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนที่ไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ นอกจากนี้ การทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว อาจมีต้นทุน ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น