กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
"เก๊กฮวย" หรือเบญจมาศสวน พืชไม้พุ่มขนาดเล็ก ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ภายหลังได้มีการนำมาปลูกในประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เก๊กฮวยเป็นพืชที่เพาะปลูกได้ดีในพื้นที่สูง และมีคุณสมบัติเด่น คือ มีกลิ่นฉุน มีรสขมและรสหวาน ทั้งยังมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน คือ เก๊กฮวยดอกขาว และเก๊กฮวยดอกเหลือง โดยทั่วไป เรามักจะพบเห็นการปลูกเก๊กฮวยในพื้นที่สูงทางภาคเหนือ การปลูกเก๊กฮวยในภูมิภาคอื่นๆ จึงไม่ได้พบเห็นกันมากนัก โดยเฉพาะการปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
จากความสำเร็จของกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา(ส.ป.ก.นครราชสีมา) ที่สามารถปลูกเก๊กฮวยได้ผลดี จนผลิดอกบานสะพรั่ง และสร้างเม็ดเงิน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่ได้รับการจัดที่ดิน เมื่อปี 2559
ผลแห่งความสำเร็จนี้ สืบเนื่องจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่ ส.ป.ก. ได้ยึดคืนพื้นที่จากผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในเขตท้องที่ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และได้นำพื้นที่มาพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ และเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรม ภายใต้โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หลักสูตร "การพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่" จำนวน 40 ราย โดยจัดสรรที่ดินให้ รายละ 2 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นแปลงที่อยู่อาศัย(บ้านพักเกษตรกร) เนื้อที่ จำนวน 2 งาน และแปลงที่ดินเกษตรกรรม เนื้อที่ 2 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้เริ่มทดลองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเดือนพฤษภาคม 2560 โดยเริ่มต้นอาชีพด้วยการปลูกกล้วย เห็ด พืชผัก เมล่อนและพืชอื่นๆที่ใช้น้ำน้อย เนื่องจากสภาพพื้นที่ยังขาดระบบน้ำที่ดี รวมถึงระบบไฟฟ้าและที่พักอาศัย ต่อมา ส.ป.ก.นครราชสีมา ได้วางแผน พัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร และถนนสายหลักสายซอยในพื้นที่ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างบ้านมั่นคง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและมีบ้านเลขที่แล้ว จำนวน 29 หลัง กำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 10 หลัง และรอการดำเนินการ 1 หลัง
ภายหลังจากการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ เกษตรกรได้ร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ในการประกอบอาชีพ การรวมกลุ่มและการอยู่ร่วมกันของกลุ่มเกษตรกรและในชุมชน รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อการวางแผน การแก้ไขปัญหา และการกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรและชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน มุ่งเน้นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ และสร้างกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมที่หลากหลาย เช่น กลุ่มผลิตพืชผัก กลุ่มผลิตดอกเก็กฮวย
กลุ่มเลี้ยงแพะ กลุ่มเลี้ยงโคนมอินทรีย์ กลุ่มเลี้ยงโค-กระบือ กลุ่มแปรรูปผลผลิต และกลุ่มการตลาด รวมถึงได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออร์แกนิคแลนด์ปากช่อง จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรสำหรับตลาดในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พืชผักสลัด แพะ ชาดอกเก็กฮวย ดอกเก็กฮวยอบแห้ง ต้นอ่อนพืชผักไมโครกรีน ข้าวโพดทับทิมสยาม ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย หญ้าหวาน เป็นต้น
สำหรับเก๊กฮวยที่ปลูกในพื้นที่นี้ เกษตรกรได้นำพันธุ์มาจาก จังหวัดเชียงใหม่ มาทดลองปลูกและขยายผลในกลุ่มที่สนใจ ๑๔ ราย โดยปลูกภายในบริเวณพื้นที่พักอาศัย ปัจจุบันต้นเก๊กฮวยที่ปลูกเริ่มบานสะพรั่งสีเหลืองอร่าม สดสวย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาจำหน่ายเป็นรายได้ ทั้งในรูปของดอกเก๊กฮวยสด และดอกเก๊กฮวยอบแห้ง โดยผลผลิตที่ได้ สามารถสร้างรายได้และเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ตามที่ ส.ป.ก.สนับสนุนและวางแนวทางจนสู่ผลสำเร็จ ซึ่งพื้นที่นี้…เปรียบเสมือนแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในพื้นที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ในปีการผลิตต่อไป...เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้วางแผนร่วมกับ ส.ป.ก.นครราชสีมา จะขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ส่วนกลางให้ต้นกล้าเจริญเติบโต ผลิดอกออกมาบานสะพรั่งสีเหลือง ตลอดแปลงที่ดิน สร้างความประทับใจแก่ประชาชนและผู้สนใจที่มาเยี่ยมชม ได้บันทึกภาพแห่งความสวยงามของแปลงเกษตรกรรม "ดอกเก๊กฮวย" ได้เลือกซื้อผลผลิตจากแปลงเกษตรและผลผลิตพืชผักสด ที่ผลิตในรูปของพืชผักอินทรีย์ ปลอดภัยจากสารพิษ อีกทั้งช่วยสนับสนุนอาชีพแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ของกลุ่มที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำกินบนความพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ปวงประชาราษฎร์ ได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ชอง"กษัตริย์เกษตร" พระมหากษัตริย์นักพัฒนาการเกษตร และการปฏิรูปที่ดินไทย พลิกผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ สู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน