กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง นับเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจของเกษตรกร เนื่องจากปลูกครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตได้ทั้งปี หากมีน้ำเพียงพอ ซึ่งไผ่บงหวานสามารถรับประทานสดได้ทันที หรือนำไปประกอบอาหารแทนเมนูมะพร้าวได้ทุกเมนู ไม่ต้องนำมาต้มเพื่อให้รสขมของหน่อไม้หายไป ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของไผ่พันธุ์นี้ และยังตอบโจทย์สำหรับผู้ที่เป็นโรคเกาต์ ที่ชอบรับประทานไผ่ เพราะจากการตรวจสอบทางเคมี พบว่า ไม่มีสารยูริก ไม่มีสารไซยาไนด์ที่จะกระทบต่อผู้ป่วยโรคเกาต์ อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตแบบอินทรีย์ได้ง่าย เพราะไม่มีโรคแมลงรบกวน ประกอบกับราคายังเป็นที่จูงใจ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ กิโลกรัมละ 70 บาท
จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) เพื่อศึกษาพืชทางเลือกในพื้นที่จังหวัดลำพูน พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกไผ่บงหวานยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะไม่มีความมั่นใจด้านราคา ขาดความรู้ด้านการผลิตและตลาด อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยสัมภาษณ์กับเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกไผ่บงหวาน นายธีรวัจน์ จักร์แก้วรังสี ซึ่งได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการริเริ่มเพาะปลูกไผ่บงหวานเพื่อสร้างรายได้ว่า ตนเองเห็นว่าเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก โดยราคากิ่งพันธุ์ ที่ลงทุนซื้อมาปลูกช่วงแรกอาจสูง เพราะราคาอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/เหง้า แต่เมื่อเริ่มให้ผลผลิตจะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงสวน ทำให้มีรายได้ 91,000 บาท/ไร่ (อัตราการปลูกไร่ละ 200 กอ) ในขณะที่ต้นทุนทั้งหมด 28,693 บาท/ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการให้น้ำค่าปุ๋ย และค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยว ซึ่งเมื่อหักลบแล้วคิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 62,307 บาท/ไร่
สำหรับไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เป็นไผ่ขนาดกลางใช้ประกอบเป็นอาหารได้หลายประเภท อาทิ แกง ผัด ต้ม ทำส้มตำ โดยลำต้นเมื่อโตเต็มที่จะสูง 7-12 เมตร หน่อจากต้นที่โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 200 กรัม หรือ 4 - 5 หน่อต่อกิโลกรัม มีสีเขียว การขยายพันธุ์สามารถทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และปลูกด้วยเหง้า อย่างไรก็ตาม ควรมีความพร้อมในเรื่องแหล่งน้ำ (ช่วงฤดูแล้งขาดน้ำไม่ได้) จึงจะทำให้มีผลผลิตได้ทั้งปี และการลงทุนในระยะแรกในเรื่องระบบน้ำและพันธุ์ค่อนข้างสูง ต้องการการดูแลที่สม่ำเสมอ สามารถทำการผลิตแบบชีวภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใดๆ ในการผลิตสำหรับเกษตรกรที่สนใจการปลูกไผ่บงหวาน สามารถขอคำแนะนำจาก นายธีรวัจน์ จักรแก้วรังสี โทรศัพท์ 09 4757 4299 หรือทาง Facebook ธีรวัจน์ จักร์แก้วรังสี ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน