กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ได้จัดประชุมระดมความคิดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดจันทบุรี อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทุบรี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานการท่องเที่ยว สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หอการค้าจังหวัด รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งขับเคลื่อนโปคเจค "นครอัญมณี" ณ ห้องประชุมกลางจันท์ 2 โรงแรม
ดีวารี ดีว่า ริมน้ำ จันทบุรี
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (สวอ.) หรือ GIT เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันโครงการนครอัญมณีที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิต และแหล่งค้าพลอยสีที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีวัตถุดิบพลอยก้อนที่ไหลเข้าประเทศไทย จำนวนสูงถึง 286,377 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 26.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งร้อยละ 90 ของพลอยก้อน ได้ผ่านเข้ามายังจังหวัดจันทบุรีเพื่อเจียระไนและปรับปรุงคุณภาพ
สถาบัน ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุน และ ส่งเสริมภาพลักษณ์ รวมทั้งการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อต่อยอดและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่ทั้งภาครัฐ และ เอกชน เพื่อผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์ของภาครัฐ พร้อมขับเคลื่อนและสร้างภาพลักษณ์จันทบุรีให้เป็น "นครอัญมณี" อย่างครบวงจร โดยเตรียมจัดงาน "International Chanthaburi Gems and Jewelry Festival 2019" ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจัดงานแสดงสินค้าด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่ครบถ้วน มีความพิเศษจากงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั่วไป โดยจะจัดงานรอบตัวเมืองจันท์ ในรัศมี 1 กิโลเมตร และมีไฮไลท์เฉพาะที่น่าสนใจ อาทิ การจัดแสดงพลอยก้อนและการเจียระไน การจัดแสดงเครื่องประดับอัญมณี การจัดแสดงนวัตกรรมการผลิต เครื่องจักร และ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการจัดแสดงภูมิ-ปัญญาท้องถิ่นด้านอัญมณีและเครื่องประดับ อาทิ การทำแหวนกล และการเจียระไน
นอกจากนี้ภายในโครงการนครอัญมณี ยังรวมเอากิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การประมูลพลอยก้อน การงานประกวดออกแบบเครื่องประดับ การประกวดพลอยเจียระไน การประกวดโครงการวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับ พร้อมจัดนิทรรศการอัญมณีและเครื่องประดับอย่างเต็มรูปแบบ และยังได้ขอความร่วมมือกรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และชิมอาหารพื้นถิ่นของจันทบุรี เพื่อดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย