กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนรณรงค์ส้วมครบวงจร เสียงสะท้อนจากธรรมชาติ ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง ดูแลและปรับปรุงส้วมให้สะอาด พร้อมเน้นย้ำให้จัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาลและปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวรณรงค์วันส้วมโลกว่า "องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก เพื่อให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสุขาภิบาล ซึ่งปีนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยร่วมรณรงค์ในหัวข้อหลักว่า "ส้วมครบวงจร...เสียงสะท้อนจากธรรมชาติ (When Nature calls)" เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนเห็นความสำคัญของการใช้ส้วมและจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาลตั้งแต่แหล่งกำเนิด ตลอดจนนำสิ่งปฏิกูลไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินอาหาร หนอนพยาธิ และปัญหาทุพโภชนาการ รวมทั้งดูแลส้วมของตนเองและส้วมสาธารณะให้สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) ปลอดภัย (Safety) และมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง เพื่อสุขอนามัยที่ดี และป้องกันไม่ให้ส้วมเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค
"จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มนโยบายพัฒนาส้วมสาธารณะ โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดทำแผนแม่บทพัฒนา ส้วมสาธารณะไทยและส่งเสริมให้มีการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานความสะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) เพื่อให้ประชาชนไทยเข้าถึงส้วมสะอาดในทุกสถานที่ รองรับการเป็นสังคมเมืองและวิถีชีวิตคนไทยที่เปลี่ยนไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลวันปีใหม่ เทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาใช้บริการส้วมสาธารณะจำนวนมาก และที่สำคัญคือเพื่อป้องกันไม่ให้ส้วมสาธารณะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ผู้ใช้บริการปลอดภัย และประทับใจทุกครั้งที่ใช้บริการ" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานพัฒนาส้วมและการจัดการสิ่งปฏิกูลในประเทศไทย พบว่า ครัวเรือนมีส้วมใช้และถูกสุขลักษณะ จำนวน 20.3 ล้านครัวเรือน คิดเป็น ร้อยละ 99.8 อีกร้อยละ 0.2 หรือ จำนวน 40,729 ครัวเรือน ยังไม่มีส้วม หรือเป็นส้วมที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากในการเข้าถึง จากผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ใน 12 สถานบริการสาธารณะ ได้แก่ วัด โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยว โรงพยาบาล ตลาด สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่ราชการ สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ และส้วมริมทาง พบว่า ผลการขับเคลื่อนในภาพรวม ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีส้วมที่ผ่านมาตรฐาน HAS ร้อยละ 71.32
"ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมการสรรหาสุดยอดส้วมขึ้นเพื่อสรรหาต้นแบบปฏิบัติที่ดีในการจัดการส้วมสาธารณะ ให้เจ้าของสถานประกอบการตระหนักถึงการพัฒนาบำรุงรักษาส้วมให้สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่าย องค์กรและชุมชน ร่วมกันพัฒนาส้วมและจัดการสิ่งปฏิกูลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปี 2560 มีเจ้าของส้วมสาธารณะได้รับรางวัลสุดยอดส้วมระดับประเทศ จำนวน 17 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์, ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา, โรงเรียนเอกอโยธยา อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นวันนี้ กรมอนามัยจะรายงานไปยังองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water)โดยเผยแพร่ผ่านทาง Website ของ UN Water เพื่อแบ่งปันเรื่องราวการจัดกิจกรรมวันส้วมโลกของประเทศไทยร่วมกับทั่วโลกต่อไปด้วย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว