กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กทปส.
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. พิจารณากรอบวงเงินและแนวทางการจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ ประจำปี 2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 โครงการหรือกิจกรรมที่เกิดจากผู้มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (ทุนแบบเปิดกว้าง Open Grant) จำนวน 300 ล้านบาท ประเภทที่ 2 โครงการที่ คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด จำนวน 700 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละประเภทมีแนวทางในการจัดสรรเงิน จากกองทุนฯ ที่ชัดเจน และมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติครั้งที่ 20/2561 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 เห็นชอบกรอบวงเงินและแนวทางการจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ประจำปี 2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท ดั้งนี้
1. ทุนประเภทที่ 1 เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เกิดจากผู้มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (ทุนแบบเปิดกว้าง : Open Grant) จำนวน 300 ล้านบาท มีเงื่อนไขการจัดสรรเงินดังนี้
1.1 ทุนเพื่อสนับสนุนการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และทุนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร วงเงินไม่เกินโครงการละ 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี
1.2 ทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา วงเงินไม่เกินโครงการละ 50 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 3 ปี
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอรับทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ยกเว้นหัวข้อต่อไปนี้ที่ไม่สามารถยื่นขอรับทุนได้
1. ด้านการส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน
2. ด้านการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์
3. ด้านการส่งเสริมสนับสนุนความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ
4. ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
5. ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
โดยทั้ง 5 หัวข้อข้างต้น กทปส. จะดำเนินการจัดทำรายละเอียด (TOR) ที่เหมาะสมสอดคล้องตามนโยบายและแผนแม่บทของกองทุนก่อนประกาศให้ผู้มีสิทธิยื่นขอรับทุนในลักษณะทุนประเภทที่ 2 ต่อไป
2. ทุนประเภทที่ 2 เป็นโครงการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด โดยมีวงเงินจำนวนเงิน 700 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
2.1 โครงการมุ่งเน้นการบรรลุความสำเร็จตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุน หรือทุนตามยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) จำนวน 670 ล้านบาท
2.2 โครงการต่อเนื่องด้วยวิธีตกลงกับหน่วยงานที่เคยได้รับทุน จำนวน 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2561 กทปส. ได้พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนให้กับโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจกว่า 50 โครงการ เช่น โครงการเสริมสร้างความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้มีความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งหวังให้ผู้บริโภคสื่อมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ โดยสามารถแยกแยะการนำเสนอข้อมูลเนื้อหาจากช่องทางของสื่อต่าง ๆ และรู้จักที่จะตั้งคำถามต่อสื่อเพื่อให้ "รู้เท่าทันสื่อ" ในยุคสังคมปัจจุบัน โครงการส่งเสริมการผลิตและออกอากาศรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโครงการที่ผลิตเนื้อหารายการที่สนุกสนานได้ความรู้สร้างสรรค์ และปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กติดตามชมอย่างต่อเนื่อง และผู้ปกครองก็มีสื่อที่ไว้ใจได้ ปลอดภัย ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ทำให้เกิดความสบายใจจะเปิดให้เด็กได้รับชมอย่างต่อเนื่อง โครงการ "ชูใจ": หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหุ่นยนต์ "ชูใจ" จะทำหน้าที่เฝ้าระวังภาวะอารมณ์ด้านลบ ประเมินปัญหาพฤติกรรมและปัญหาด้านความจำ รวมทั้งดูแล ช่วยเหลือ และบำบัดจิตใจของผู้สูงอายุโดยการโต้ตอบสนทนาแบบอัตโนมัติได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบระบบ Smart Healthcare Administrative Application
นอกจากนี้ กทปส. ยังได้สนุบสนุนโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพแบบปัจเจกบุคคลในลักษณะองค์รวม โดยมูลนิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชร รัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งเป็น Application และ Website สำหรับวิเคราะห์ความเสี่ยง ทางสุขภาพที่มีความน่าเชื่อถือตามกระบวนการทางการแพทย์โดยการเก็บรูปหน้า (Face detection) และข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาไปสู่ฐานข้อมูลงานวิจัยและขยายผลงานวิจัยต่อไปในอนาคต และอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน : จริยธรรมของสื่อ โดยกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโครงการที่จะนำบทเรียนตลอดจนองค์ความรู้ความเข้าใจในหลักการที่ถูกต้องจากทุกหน่วยงาน และการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในกรณีสถานการณ์ภาวะวิกฤต มาจัดทำเป็นคู่มือการสื่อสารในภาวะวิกฤตเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต