กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สั่งการจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 20 – 22 พ.ย.61 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงทะเลมีคลื่นลมแรง เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามปริมาณ ฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ และข้อมูลสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน "โทราจี" เริ่มเข้าปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังแรง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักและมีปริมาณฝนสะสมเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลม บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น กอปภ.ก จึงได้เน้นย้ำได้จังหวัดเสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชม. ในช่วงวันที่ 20 – 22 พ.ย.61 แยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 16 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ในส่วนของพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง 14 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูลโดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝนระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือทุกประเภท พร้อมกำชับสถานประกอบการ ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป