กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
แม้ว่าจะมีรายงานข่าวพบผู้โดยสารพูดคำว่า "ระเบิด" ขณะทำการเช็คอินหรืออยู่บนอากาศยานจนเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าของเที่ยวบินอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีผู้โดยสารพูด "ระเบิด" อยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายมีความผิดตามตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ
นางชาริตา ลีลายุทธ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ไทยสมายล์พบว่ายังมีผู้โดยสารจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าการพูด "ระเบิด" บนอากาศยานนั้น เข้าข่ายมีความผิดตามตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศซึ่งมีบทกำหนดโทษกำกับไว้อย่างชัดเจน โดยเนื้อหาในมาตรา 22 ระบุไว้ว่า ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และการนั้นเป็นเหตุหรือ น่าจะเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินตื่นตกใจ ผู้กระทำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 600,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ส่วนกรณีที่ผู้โดยสารพูด "ระเบิด" นอกอากาศยาน ไม่ว่าจะพูดบริเวณเคาน์เตอร์เช็คอิน หรือขณะกำลังขึ้นเครื่อง ก็อาจถูกดำเนินคดี และมีโทษปรับ จากข้อหาเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
"ไม่เพียงแต่การพูดด้วยความคะนองว่ามี ระเบิด เท่านั้น กลุ่มคำอื่นๆ ที่ไม่ควรนำมาพูดเล่นยังรวมถึง จี้บนเครื่องบิน และการก่อการร้าย เนื่องจากสนามบินเป็นสถานที่ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย หากเจ้าหน้าที่ของสายการบินพบเห็นหรือได้ยินข้อความซึ่งอาจจะมีผลต่อความปลอดภัยดังกล่าว ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีข้อยกเว้นซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฏความปลอดภัยและ พรบ.ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยผู้โดยสารที่พูด "ระเบิด" จะต้องนำตัวส่งไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ รวมถึงหากโหลดกระเป๋าแล้วก็ต้องนำกระเป๋าสัมภาระออกมาตรวจค้นอย่างละเอียดอีก จึงเป็นการเสียเวลาของท่าน รวมถึงกระทบต่อผู้โดยสารท่านอื่น ๆ ที่ต้องเสียเวลาล่าช้าไปด้วย โดยเฉพาะเที่ยวบินนั้นที่ต้องเกิดความล่าช้าซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก"
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกประการคือสิ่งของมีค่าต่างๆ อาทิ เงินสด ไอแพด กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เครื่องประดับ ให้นำใส่กระเป๋าและนำติดตัวขึ้นเครื่องไม่ควรโหลดลงใต้ท้องเครื่อง รวมถึงแบตเตอรี่สำรองทุกชนิด(Power Bank) ไม่อนุญาตให้โหลดลงใต้ท้องเครื่อง แต่อนุญาตให้นำติดตัวขึ้นเครื่องได้ โดยจะต้องเป็นแบตเตอรี่สำรองความจุน้อยกว่า 20,000 mAh จำนวนไม่เกิน 20 ชิ้น และ/หรือ แบตเตอรี่สำรองความจุ ระหว่าง 20,000 – 32,000 mAh (ไม่เกิน 2 ชิ้น) ส่วนแบตเตอรี่สำรองความจุมากกว่า 32,000 mAh ไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง จึงขอให้ทุกท่านระมัดระวังสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษเพื่อให้การเดินทางของไปถึงจุดหมายอย่างราบรื่นและปลอดภัย" นางชาริตา กล่าวสรุป