กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ส่องแนวโน้มตลาดซีเมนต์ปี 62 สดใส หลังจากภาครัฐเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบราง ถนนและสนามบิน ส่งผลดีต่อความต้องการใช้ซีเมนต์ที่ขยายตัว คาดหากภาครัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ตามแผนงาน จะกระตุ้นการใช้ซีเมนต์เพื่อการก่อสร้างอีกประมาณ 15 – 20 ล้านตัน หนุนตลาดซีเมนต์ผ่านพ้นช่วงชะลอตัว พร้อมโชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำกำไรสุทธิ 477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประเมินแนวโน้มตลาดซีเมนต์ปี 2562 จะเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยบวกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในปัจจุบันและที่เตรียมเปิดการประมูลในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้ซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน – โคราช (กำลังก่อสร้าง), โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็นศูนย์กลางการบินในภาคตะวันออก, โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2, โครงการพัฒนารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ฯลฯ นอกจากนี้การพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ จะทำให้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าและรอบสถานี ซึ่งจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดซีเมนต์ในปีนี้ได้ผ่านช่วงชะลอตัวไปแล้วและกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น โดยจะมีความต้องการใช้จากตลาดในประเทศและส่งออกรวมในปีนี้ประมาณ 35 – 36 ล้านตัน อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลสามารถเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ตามแผนงานที่วางไว้ จะส่งผลให้มีความต้องการใช้ซีเมนต์เพื่อการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 15 – 20 ล้านตัน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 (กรกฎาคม-กันยายน 2561) มีกำไรสุทธิ 477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 264.82%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 290 ล้านบาท โดยมาจากกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจปกติในไตรมาส 3/61 จำนวน 365 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก147 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมในไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 9,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 7,725 ล้านบาท ปัจจัยมาจากยอดขายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ฯลฯ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มมากขึ้น และรายได้จากธุรกิจการขายไฟฟ้าของบริษัทย่อยที่เพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2561) ที่มีกำไรสุทธิ 772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 248.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุน 521 ล้านบาท โดยเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจปกติ 9 เดือนแรกของปีนี้ 643 ล้านบาท และมีรายได้รวม 27,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 23,647 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทั้งจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน และรายได้จากธุรกิจการขายไฟฟ้าของบริษัทย่อยที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน