กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--หอการค้าไทย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้ เป็นปีที่หอการค้าไทยครบรอบ 85 ปี โดยที่ผ่านมานั้น หอการค้าไทยได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับเครือข่าย อาทิ หอการค้าจังหวัด หอการค้าต่างประเทศ สมาคมการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และองค์กรเอกชน อื่น ๆ ร่วมกับภาครัฐ และประชาสังคม รวมทั้ง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพื่อให้ประเทศไทยมีการเติบโตทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและอย่างยั่งยืน ในส่วนของนโยบายในการดำเนินงาน นั้น หอการค้าไทยเป็นสถาบันหลักของภาคเอกชนในด้านการค้าและบริการ โดยได้ผลักดันการดำเนินงาน มุ่งสู่ Trade and Services 4.0 โดยเน้นใน 3 Value Chain ด้วยกัน คือ ด้านการค้าการลงทุน ด้านการเกษตรและอาหาร และ ด้านท่องเที่ยวและบริการ
นายกลินท์ กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจกำลังเปลี่ยนไปจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และ Digital Transformation ในภาคธุรกิจต่าง ๆ มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งการส่งออก การค้าชายแดน การท่องเที่ยวและบริการเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคบริการของประเทศไทยมีความสำคัญมากขึ้น ประกอบกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น automation และ robot มาเพิ่มผลผลิต และทดแทนแรงงานมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่แรงงานจะย้ายจากภาคการผลิตและภาคการเกษตรมายังภาคบริการ ดังนั้นผู้ประกอบการทุกระดับต้องเร่งต้องปรับตัว ส่วนแรงงานที่มีอยู่และที่กำลังจะเข้ามาในระบบก็ต้องมีการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่เหมาะสม
สำหรับ Theme การจัดงาน คือ "85 ปี แห่งความทุ่มเท ให้ไทยเท่ ไทยเท่าเทียม ไทยยั่งยืน" เพื่อสะท้อนภาพ การดำเนินงานขององค์กรที่มีมายาวนานกว่า 85 ปี โดยดำเนินนโยบายตามแนวคิด ไทยเท่ คือความภูมิใจและกล้าที่จะนำวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยที่ดีงาม มาผนวกกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ สร้างเป็นสินค้าและบริการที่แตกต่าง มีมูลค่าเพิ่ม ให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด ไทยเท่าเทียม คือ การสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ สร้างและกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เติมเต็มองค์ความรู้และประสบการณ์ และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ และ ไทยยั่งยืน เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่การพัฒนาสังคม หอการค้าไทยและภาคีเครือข่ายยังร่วมกันส่งเสริม ให้เกิดธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปีนี้หอการค้าไทยจะจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 36 ขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 85 ปี หอการค้าไทย จึงได้กำหนด Theme การจัดงานสัมมนาฯ "85 ปี แห่งความทุ่มเท ให้ไทยเท่ ไทยเท่าเทียม ไทยยั่งยืน" โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ที่โรงแรมดุสิตธานี จะมีการสัมมนาการส่งเสริมและพัฒนา YEC ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าไทย และการประชุมหอการค้าภาค 5 ภาค เพื่อนำเสนอ Winning Project ของแต่ละภาคที่ร่วมกันขับเคลื่อน ในช่วงภาคค่ำ จะจัดงานเลี้ยงต้อนรับเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 85 ปี หอการค้าไทย "ไทยเท่ไนท์" โดยจัดงาน ณ เมืองสุขสยาม ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ที่เป็น Landmark ใหม่ของประเทศไทย ซึ่งตรงกับแนวทาง "ไทยเท่" ที่หอการค้าไทยได้ผลักดันแนวทางนี้ เพื่อกระจายลงสู่ทุกภูมิภาค รวมทั้งได้มีการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ โดยดึงอัตลักษณ์ในท้องถิ่น ผสานความคิดสร้างสรรค์ ใช้ "ความต่าง" พัฒนาให้เป็น "มูลค่าเพิ่ม" ยกระดับรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ พื้นที่สำหรับวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2561 จะเป็นการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 36 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งในปีนี้ นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ให้เกียรติมารับฟังสรุปผลการสัมมนาฯพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การปฏิรูปประเทศสู่ ไทยมั่นคง ไทยมั่งคั่ง ไทยยั่งยืน" โดยการสัมมนาในปีนี้ ได้กำหนดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมด้วยกรณีศึกษาจากประสบการณ์จริงของผู้ประกอบการโดยมุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก ที่หอการค้าไทยได้กำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สอดรับกับ Trade & Services 4.0 ประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 เรื่อง "Digital Transformation in Trade & Service" แนวทางการสัมมนา สร้างความพร้อม
ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการในการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ที่ต้องเข้าสู่ยุค Digital Economy โดยจะอธิบายถึงสิ่งที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ ทั้ง Technology, Application และ Infrastructure โดยจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาของทั้งผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ที่ได้มีการปรับตัวไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ทราบถึงการการสร้างความรู้ และความเข้าใจ เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึง แนวทางข้อเสนอแนะของหอการค้าฯ ว่าต้องให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้าน Digital ไปในทิศทางใด และจะช่วยให้ผู้ประกอบการ Transformเข้าสู่ยุค digital ได้อย่างไร รวมถึงโครงการของหอการค้าไทยที่จะทำให้สมาชิก เช่น Thailand Digital Tourism Platform และ TCC Connect
กลุ่มที่ 2 เรื่อง "Agriculture and Food Value Chain" แนวทางการสัมมนา พัฒนาเกษตรและอาหารไทยสู่ Global Value Chains : ประเทศไทย 4.0 ตั้งแต่ ต้นน้ำ คือ การร่วมมือกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในมิติต่าง ๆ กลางน้ำ คือ การบูรณาการในการดูแลถ่ายทอดความรู้วิชาการ การพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต รูปแบบผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดการคุณภาพสินค้า เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรไทย และ ปลายน้ำ คือ การส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร และหาช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สมาชิก
ผู้ประกอบการหอการค้าทั่วประเทศสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยจะมีแนวทางในการสัมมนา 3 เรื่อง คือ 1) การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด 2) Food waste กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3) Value Chain สมุนไพรไทยโอกาสและช่องทางการตลาด ซึ่งในกลุ่มนี้ ได้รวบรวมสินค้าทางเกษตรและอาหารที่ขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัดมาจัดนิทรรศการและนำเสนอให้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย
กลุ่มที่ 3 เรื่อง "Community Base Tourism" แนวทางการสัมมนา พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบและพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการท่องเที่ยวชุมชน โดยจะเชื่อมโยงกับแนวทางโครงการ Big Rock ของภาครัฐ ที่หอการค้าฯและเครือข่ายสามารถทำโครงการเพื่อเชื่อมโยงได้ และจะมีกรณีศึกษาของหลายจังหวัด ที่มีความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดต้นแบบความร่วมมือ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำรวมถึงสร้างมาตรฐาน เช่นโครงการ Go Green model ของจังหวัดกระบี่ เป็นต้น ซึ่งจะมีการถอดบทเรียนปัญหาอุปสรรคของการท่องเที่ยวชุมชน และนำเสนอแนวทางการปลดล๊อค ส่งเสริม และพัฒนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการท่องเที่ยวชุมชน
สำหรับการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้ หอการค้าไทยคาดหวังว่าผลที่ได้จากการสัมมนาจะเป็นแรงที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นตัวจุดประกายให้กับทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดการกระจายรายได้ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค 4.0 รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นในทุกจังหวัด ได้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป