กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเคโอะ จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ "Drone, Media and Society" ฉายภาพอนาคตของโดรนต่อสังคมโลกในหลากหลายแง่มุม ทั้งการสื่อสาร-การพาณิชย์-การเกษตร-การศึกษา พร้อมถกประเด็นข้อจำกัดทางกฎหมายของโดรนในประเทศไทยและต่างชาติ
ในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2561 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ "Drone, Media and Society" ณ หอประชุมนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมในเชิงบริการวิชาการและเสริมสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเคโอะ ประเทศญี่ปุ่น
ในการเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วยการเสวนาเกี่ยวกับอนาคตของโดรนในอนาคตอันใกล้ รวมถึงประโยชน์ของโดรนในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านการสื่อสาร อาทิ โดรนกับสื่อ การประชาสัมพันธ์ การภาพยนตร์ รวมไปถึงประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น การพาณิชย์ การเกษตร การศึกษาวิจัย โดย Prof.Dr. Tomoyuki Furutani จากมหาวิทยาลัยเคโอะ ได้ฉายภาพตัวอย่างของการนำโดรนไปประยุกต์ใช้จริงในปัจจุบันตามสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงประโยชน์ของโดรนที่ช่วยทลายข้อจำกัดในเชิงกายภาพ อาทิ การใช้โดรนเพื่อการข่าวในพื้นที่สงครามประเทศซีเรีย การใช้โดรนเพื่อคาดการณ์สถานการณ์การประท้วงในกรุงมอสโคว หรือการใช้โดรนเพื่อการถ่ายทำข่าวและสารคดีในพื้นที่ที่มนุษย์เข้าถึงได้ยากและมีความเสี่ยงสูง ทำให้สื่อในปัจจุบันสามารถนำเสนอความจริงได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมในทุกมิติที่ในอดีตไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ Prof. Masaki Minami จากมหาวิทยาลัยเคโอะ ได้เสริมถึงประโยชน์ของโดรนในบริบทอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านการสื่อสาร อาทิ การใช้โดรนในการกู้ภัย กรณีแผ่นดินไหวและอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกรณีล่าสุดที่ประสบความสำเร็จจากการกู้ภัยในกรณีถ้ำหลวง ทั้งนี้ Prof.Masaki ได้แสดงตัวอย่างของการใช้โดรนในเชิงธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต อาทิ การใช้โดรนเพื่อการประมง การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและทางทะเล การใช้โดรนในการควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงการใช้ในกิจการเหมืองแร่ ที่ลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และเมื่อกล่าวถึงโดรนกับประโยชน์ทางด้านสื่อและศิลปะ Prof.Martino Cipriani จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการใช้โดรนในการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งปัจจุบันโดรนถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของกองถ่ายภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดทุกกอง เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตภาพยนตร์ลดลงกว่า 20 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้อากาศยานประเภทอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงการใช้โดรนในบุคคลทั่วไป โดรนเป็นสิ่งที่ทลายข้อจำกัดในด้านความเป็นมืออาชีพ เพราะไม่ว่าใครก็สามารถใช้โดรนถ่ายทำได้ง่ายๆ จากเทคโนโลยีขั้นสูงที่ช่วยสนับสนุน สามารถเข้าถึงได้ง่าย และใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก รวมถึงในปัจจุบันมีการสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์แก่บุคคลทั่วไปและมีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงฝีมือมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจในการใช้โดรนและจริยธรรมหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านข้อจำกัดและการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โดรนและสังคมรอบข้าง อันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความสมดุล ทั้งในแง่ของกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพ และจริยธรรม อันเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจตั้งแต่ผู้ซื้อโดรนส่วนบุคคล ไปจนถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการใช้ประโยชน์ของโดรน และทำความเข้าใจกับสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสังคมว่า การเข้ามาของโดรนในอนาคตอันใกล้ เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมและก่อให้เกิดความก้าวหน้า มากกว่าที่จะก่อให้เกิดโทษหรือการละเมิดต่างๆ ที่ประชาชนเป็นกังวลจากกระแสข่าวการใช้โดรนในทางที่ผิด
สำหรับโดรนกับการใช้ประโยชน์ในสังคมไทยนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ โหรานนท์ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบการผลิต สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงตัวอย่างการวิจัยด้านการใช้งานโดรนเพื่อพัฒนาการเกษตรในประเทศไทย อาทิ การใช้โดรนเพื่อสำรวจพื้นที่ทางการเกษตร การจัดการที่ดิน การติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อวิเคราะห์และเฝ้าสังเกตพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ในพื้นที่ห่างไกล การใช้โดรนเพื่อตรวจนับผลผลิต การใช้โดรนเพื่อควบคุมโรคระบาดในพืชและการใช้โดรนเพื่อพ่นยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันถึงแม้จะยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย แต่ด้วยประสิทธิภาพ การเข้าถึงที่ง่าย และราคาที่เหมาะสม อาจทำให้โดรนเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มว่า จะมีบทบาทในภาคการเกษตรของประเทศไทยอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ ในงานมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ทั้งนิสิตนักศึกษา บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป เข้าร่วมการเสวนาตลอดงานเกือบ 100 คน และจากเสียงตอบรับที่ดีของผู้เข้าร่วมสัมมนาตลอดระยะเวลาหลายปีรวมถึงการเสวนาครั้งนี้ ทำให้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีมหาวิทยาลัยในเครือข่าย จะมีการจัดเสวนาร่วมกันในประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกมากมายในอนาคต ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเสวนาและกิจกรรมต่างๆ ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทั้งทางเว็บไซต์ www.commarts.chula.ac.th หรือทางเฟซบุ๊ค www.facebook.com/commartschulaofficial