กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--Syllable
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (Thai Rice Exporters Association) เทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย ผ่านนิทรรศการ "รัชกาลที่ 9…กับ ข้าวไทย" ในงานฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสมาคมฯ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระมหากษัตริย์นักคิดนักพัฒนา ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่วงการข้าวและปวงชนชาวไทย เป็นที่ประทับใจของแขกผู้มีเกียรติจากทั่วไทยและทั่วโลก
"ในฐานะคนไทย พวกเราตระหนักดีถึงบุญคุณของแผ่นดินและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย ผู้ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทพระอัจฉริยภาพ และพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาข้าวไทยและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้แก่ข้าวไทยจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งพสกนิกรไทยและประชาคมโลก" นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าว
นิทรรศการ "รัชกาลที่ 9…กับ ข้าวไทย" ซึ่งจัดขึ้นภายในฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จัดแสดงในรูปแบบศิลปะจัดวาง หรือ Installation Art ที่แตกต่างจากนิทรรศการโดยทั่วๆ ไป เพื่อสะท้อนพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงคิดค้นและพัฒนาในโครงการหลากหลายเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือให้แก่ราษฎรของพระองค์
นิทรรศการเทิดพระเกียรติ แบ่งเป็นธีมต่างๆ ได้แก่ "แปลงนาทดลอง" จำลองโครงการในพระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งพระองค์ทรงอุทิศพื้นที่เขตพระราชฐาน เพื่อใช้ทำการทดลองทางการเกษตรภายใต้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยทรงคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงนาทดลองมาแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนทั่วไป เป็น "พันธุ์ข้าวพระราชทาน" ที่นำมาซึ่งขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร
ในขณะที่ธีม "โครงการฝนหลวง" สะท้อนความห่วงใยที่ทรงมีต่อเกษตรกรชาวนาในยามประสบภัยแล้ง จึงทรงค้นคว้าและให้กำเนิดฝนเทียมเพื่อช่วยสร้างแหล่งน้ำสำคัญให้ชาวนาได้เพาะปลูก นอกจากนี้ ในโซน "โรงสีข้าวตัวอย่าง" ได้จัดแสดงแบบจำลองโรงสีข้าว ซึ่งรัชกาลที่ 9 ได้ทรงจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของโรงสีขนาดเล็กตามหมู่บ้านชนบทในรูปแบบของนิคมสหกรณ์ และทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อก่อสร้าง "โรงสีข้าวพระราชทาน" ในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย
นอกจากโรงสีข้าวพระราชทานแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้ง "ธนาคารข้าว" แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาชาวนายากไร้ขาดแคลนข้าวบริโภค หรือขาดแคลนเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกในบางฤดูกาล โดยธนาคารข้าว เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้าวของหมู่บ้านเพื่อให้บริการแก่สมาชิกในชุมชน
อีกหนึ่งนิทรรศการสำคัญ ที่น้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพการเป็นพระมหากษัตริย์นักคิดของพระองค์ท่าน คือธีม "เกษตรทฤษฎีใหม่" สะท้อนแนวคิดพระราชทาน "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผ่านการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ให้สามารถเลี้ยงตัวเอง มีรายได้และมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี
ส่วนนิทรรศการ "วันดินโลก" แสดงให้เห็นถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงมีต่อวงการการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร ในปี 2556 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO จึงประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็น "วันดินโลก"
นอกจากนี้ ในปี 2536 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล "International Rice Award" ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกขึ้นเป็นพิเศษ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้จัดเตรียมมาเพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสมาคมฯ อีกด้วย
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวทิ้งท้ายว่า "ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปลูกจิตสำนึกแห่งการพัฒนาข้าวไทยให้หยั่งรากลึก มั่นคง และยั่งยืน พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ต่อทุกชีวิตในสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในการร่วมสานต่อพระราชปณิธานทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต"