กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงผลการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณ 24,987.42 ล้านบาท ดำเนินงาน 2 แผนงาน รวม 22 โครงการ ได้แก่ 1) แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร จำนวน 24,294.35 ล้านบาท ดำเนินงาน 20 โครงการ (รวมในส่วนของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม 3 โครงการ) และ 2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 693.08 ล้านบาท ดำเนินงาน 2 โครงการ
โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรมีทักษะในการประกอบอาชีพ มีความรู้ที่จะผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในส่วนสถาบันเกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ลดความเสี่ยงด้านการผลิต และราคาสินค้า โดยให้สหกรณ์รวบรวม ปรับปรุงคุณภาพสินค้าก่อนจำหน่าย นอกจากนี้ยังรวมถึงการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน และพื้นที่การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำระดับชุมชน โดยการสร้างฝายชะลอน้ำชุมชน และพัฒนาประสิทธิภาพแหล่งน้ำชลประทาน
ซึ่งกระบวนการในการเสนอโครงการ จะต้องเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ 1) เกษตรกร สถาบันเกษตรกร เสนอความต้องการผ่านเวทีประชาคมของหมู่บ้าน 2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการตามความต้องการของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2561 3) เกษตรกร/ชุมชนร่วมกำหนดพื้นที่เป้าหมายโครงการ เสนอโครงการชุมชนเพื่อขอรับเงินสนับสนุนไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ชุมชนละ 300,000 บาท และ 4) โครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ได้ให้เกษตรกรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างและการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ด้วย
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดให้มีโครงการย่อย จำนวน 22 โครงการ สามารถสร้างประโยชน์และเกิดความสำเร็จของโครงการ ดังนี้
1) โครงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนการเสนอโครงการ อันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย จำนวน 5 โครงการ งบประมาณรวม 7,730.28 ล้านบาท เช่น โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร โดย กรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรจำนวน 1.62 ล้านคน ได้รับความรู้และมีทักษะการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรายได้จากการเข้าร่วมอบรมและการสนับสนุนกิจกรรมการผลิตที่แต่ละชุมชนเสนอเป็นเงิน 2,643.22 ล้านบาท ตัวอย่างความสำเร็จ ได้แก่ ชุมชนตำบลฉลุง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล จัดทำโครงการเลี้ยงผึ้งโพรงเป็นอาชีพเสริม เพราะการเลี้ยงผึ้งโพรงมีการลงทุนน้อย ความต้องการของตลาดสูง ช่วยสร้างรายได้ 665,000 บาทต่อปี และสามารถขยายผลการเลี้ยงผึ้งครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ และชุมชนที่ 4 บ้านแก่ง ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดทำโครงการการผลิตสารชีวภัณฑ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตในการจัดการศัตรูพืช โดยการใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี จาก 4,000 บาทต่อไร่ เป็น 3,200 บาทต่อไร่ เป็นต้น
2) โครงการที่ประชาชนได้รับเงินจ่ายตรงเข้าบัญชีเกษตรกร เพื่อมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ จำนวน 7 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 3,500 ล้านบาท เช่น โครงการจ้างงานชลประทาน มีความสำเร็จ คือ ซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบชลประทาน 140 รายการ เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16,242 บาทต่อราย รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 148.45 ล้านบาท
3) โครงการที่จัดให้มีสิ่งปลูกสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพ โดยการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์สำหรับเก็บรวบรวม ปรับปรุงคุณภาพและแปรรูปผลผลิตการเกษตร จำนวน 9 โครงการ งบประมาณรวม 11,955 ล้านบาท ตัวอย่างความสำเร็จ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด จังหวัดลำปาง เริ่มใช้ประโยชน์ลานตากขนาด 2,240 ตารางเมตร รวบรวมข้าวเปลือกช่วงเดือนตุลาคม ประมาณ 640 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.77 ล้านบาท และสหกรณ์การเกษตรเชียงดาว จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มใช้ประโยชน์เครื่องสีข้าวโพด ขนาด 180 แรงม้า ลานตาก ขนาด 3,080 ตารางเมตร รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเดือนตุลาคม ประมาณ 534 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.4 ล้านบาท เป็นต้น
4) โครงการที่มีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ความรู้แก่ประชาชน ในด้านต่าง ๆ จำนวน 11 โครงการ ซึ่งรวมโครงการภายใต้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่งผลให้ประขาชนได้รับการอบรมถ่ายทอด ให้ความรู้ทางการเกษตร จำนวน 1.89 ล้านราย จำแนกเป็น ด้านพืช จำนวน 733,861 ราย ด้านปศุสัตว์ จำนวน 119,428 ราย ด้านประมง 382,406 ราย และด้านอื่น ๆ อาทิ การจัดทำบัญชีครัวเรือน การแปรรูปผลผลิต การรวมกลุ่ม จำนวน 651,091 ราย
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งการผลิตจะต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตและสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างทั่วถึงตามภูมิสังคมจึงมีความจำเป็นและเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐโดยมีประชารัฐและประชาชนร่วมกันบริหารจัดการ ดูแลรักษา ใช้ประโยชน์ จึงมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน ซึ่งผลสำเร็จของโครงการ มีดังนี้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน (เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.12 ล้านไร่) จำนวน 10,288 ล้านบาท รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 1,341 แห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำการเกษตรในอนาคตทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ ส.ป.ก.
"ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากงบประมาณโครงการที่ใช้จ่ายลงไปในระบบ จากการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร งบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับทั้งสิ้นประมาณ 24,987.42 ล้านบาท ส่งผลสำเร็จให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 3 ล้านราย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน จังหวัดและประเทศ คิดเป็นมูลค่า 63,599.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.54 เท่าของเงินงบประมาณ โดยแบ่งออกเป็นด้านการผลิต 47,563.99 ล้านบาท จากค่าจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์จากโครงการลงทุนก่อสร้างของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าวัสดุและสินค้าวัสดุเกี่ยวเนื่องในระบบห่วงโซ่การผลิตที่ต่อเนื่อง และด้านรายได้ 16,035.84 ล้านบาท จากค่าจ้างแรงงานในโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะกลายเป็นรายได้ของแรงงานที่จะถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของครัวเรือนและกระจายไปเป็นรายได้ของร้านค้า/ธุรกิจในชุมชนที่ต่อเนื่อง นอกจากนั้น เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งวัดจากผลได้ที่เกษตรกรได้รับจากกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อาทิ รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ลดลง และโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นหรือพัฒนาให้ดีขึ้น" นายกฤษฎา กล่าว