กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อเร็วๆนี้ โดยที่ประชุมหารือแผนการดำเนินงานด้านต่างประเทศของหน่วยงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และที่ประชุมเห็นชอบให้ วธ. เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาประกาศให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมไทยและปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน หลังจากที่ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้พิจารณารับรองให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน รวมทั้งมอบหมายให้ สป.วธ.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของ วธ. จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมปีแห่งวัฒนธรรมไทยและปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนในปี 2562 ในโอกาสที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนและเป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2562 เช่น การแสดงโขนเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ไทยเสนอโขนเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก การจัดทำหนังสือมรดกวัฒนธรรมอาเซียน 10 ประเทศ การเตรียมความพร้อมในการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนในปี 2562 นอกจากนี้ได้ให้ สป.วธ. ไปศึกษาแนวทางการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านศิลปวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนานาชาติ รวมทั้งให้แต่ละกรมจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยไปสู่ประเทศต่างๆ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกำชับให้แต่ละกรมกำหนดแผนการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ2563 ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ของรัฐบาล นโยบายประเทศไทย 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมระยะ 20 ปี โดยมุ่งเน้นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านนโยบายและบริหารงานวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน รวมถึงนำมาใช้ประโยชน์และสนับสนุนการกำหนดนโยบายของวธ.ในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานดูแลแผนการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมในภาพรวมของวธ. และจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนงานวิจัย โดยมีนายกฤษฎา คงคะจันทร์ รักษาการปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อให้การวิจัยหน่วยงานต่างๆ ของวธ.เป็นไปในทิศทางเดียวกันเน้นการนำนโยบายของรัฐบาลและ วธ.ไปสู่การวิจัยและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานแต่ละกรม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะการกำหนดหัวข้อวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ของ วธ. อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) วิจัยการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยไปสู่ตลาดโลก โดยศึกษากรณีตัวอย่างจากประเทศต่างๆ และพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) วิจัยแนวทางการส่งเสริมเด็กไทยให้สามารถเล่นดนตรีได้อย่างน้อยคนละ 1 ชิ้น การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5 เอฟ เช่น อาหารไทย เทศกาลและประเพณีไทยไปสู่ระดับนานาชาติ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) วิจัยส่งเสริมการออกแบบเครื่องแต่งกายและแฟชั่นสู่ระดับโลก