กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผย ผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการยกระดับคุณภาพการบริการสาธารณะสุข" สำรวจระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,180 คน
นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่ประชาชนเรียกติดปากกันว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นนโยบายด้านสาธารณะสุขที่มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในประเทศสามารถเข้าถึงบริการด้านการตรวจรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็ได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมสิทธิและการคุ้มครองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการให้ครอบคลุม รวมถึงเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
แต่อย่างไรก็ตามผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งยังคงไม่เข้าใจสิทธิและความคุ้มครองที่ตนเองได้รับจากบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะเดียวกันผู้คนส่วนหนึ่งยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิ์รับบริการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพยารักษาโรคและการให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใจใส่ของแพทย์พยาบาล นอกจากนี้ยังคงมีข่าวปรากฏอยู่เป็นระยะถึงปัญหาการใช้สิทธิ์รับบริการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสาธารณะสุข ดังนั้นจากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการยกระดับคุณภาพการบริการสาธารณะสุข
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.59 เพศชายร้อยละ 49.41 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านการขอใช้สิทธิ์รับบริการตรวจรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.1 ระบุว่าตนเองเคยใช้สิทธิ์ขอรับบริการตรวจรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.71 ระบุว่าตนเองขอใช้สิทธิ์ทุกครั้งที่เกิดอาการเจ็บป่วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.19 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยขอใช้สิทธิ์เลย
ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.24 ยอมรับว่าตนเองไม่ทราบช่องทางการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์และความคุ้มครองต่างๆหากต้องการใช้บริการตรวจรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.76 ระบุว่าทราบช่องทางการตรวจสอบ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.12 ไม่ทราบว่าบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบันครอบคลุมการรักษาโรคเรื้อรัง/โรคที่ต้องใช้ระยะเวลาการรักษาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.88 ระบุว่าตนเองทราบ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.9 ทราบว่าตนเองมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ฟรี 72 ชั่วโมงในกรณีเกิดอาการป่วยขั้นวิกฤต ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 61.1 ยังไม่ทราบ
ในด้านความกังวลต่อการรับบริการตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.2 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าผู้ใช้สิทธิ์รับบริการตรวจรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับยารักษาโรคที่มีคุณภาพ/ประสิทธิภาพน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.15 กังวลว่าแพทย์-พยาบาล-เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะให้ความดูแลเอาใจใส่ผู้ใช้สิทธิ์รับบริการตรวจรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์
ในด้านความคิดเห็นต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.63 มีความคิดเห็นว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีส่วนทำให้ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้นได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.32 มีความคิดเห็นว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.31 มีความคิดเห็นว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณะสุขได้มากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.08 มีความคิดเห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและเงื่อนไขการรับบริการตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ถูกต้องให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
หมายเหตุ : 1.หากต้องการใช้ตัวย่อสำหรับ "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม" ขอความกรุณาท่านสื่อมวลชนใช้คำว่า วทส. หรือ STC (สอนระดับปริญญาตรี-โท-เอก) ถ้าย่อคำว่า Siamtech (สยามเทค) (สอนระดับปวช.ปวส.) เป็นคนละสถาบันการศึกษา และ 2.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นคนละสถาบันกันกับมหาวิทยาลัยสยาม