กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ
ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) หน่วยงานภายใต้สังกัด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" (ศศช.) จัดสัมมนาวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้ชื่อ สัมมนาสานพลังความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพเด็กและสุขาภิบาลสุขอนามัย ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" (ศศช.) "Open House @ เด็กดอยสุขภาพดี" ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องประชุมยูคาลิป ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ การอภิปราย การเสวนา การสาธิตแบ่งกลุ่ม รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 100 คน ประกอบด้วย ครู ศศช. กศน. บุคลากรสาธารณสุข คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพระดับอำเภอ และภาคีเครือข่าย
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญและทรงห่วงใย การดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ในกลุ่มเป้าหมายทุกสังกัด ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศศช. เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร เข้าถึงยากลำบากมาก ยังคงพบปัญหาสุขภาพเด็กและเยาวชน และสภาวะบริบทแวดล้อมที่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ สภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสานพลังและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็ง และมีจิตอาสา มาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาด้านสุขภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ศศช. ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นต่อไป การสัมมนาครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้มีการระดมสรรพพลังแห่งปัญญาของผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ (กพด.) ทุกภาคส่วน
นางศรีวรรณ ทาวงศ์มา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) กล่าวว่า ศอช. ได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2550 โดยมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในพื้นที่เป้าหมาย ศศช. จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และน่าน รวม 4 จังหวัด 281 แห่ง ภายใต้การมีส่วนร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย ท้องถิ่น ชุมชน ครัวเรือน ภาคประชาชน และต้นสังกัด (กศน.อำเภอ จังหวัดเป้าหมาย)
"กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ศอช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญในพื้นที่ ศศช. อาทิ เสริมสร้างพลังชุมชนแบบมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพเด็ก ศศช. จังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการสำรวจสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่ ศศช. สร้างส้วมสุขอนามัยใน ศศช. อำเภอแม่แจ่ม 10 แห่ง พัฒนารูปแบบการประเมินพัฒนาการเด็กใน ศศช. อำเภออมก๋อย 20 แห่ง รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาราษฎรชาวไทยภูเขาในพื้นที่หมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงและหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (พมพ.)" นางศรีวรรณฯ กล่าว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์สุขภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ศศช. ปี 2558 ยังคงพบปัญหาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง อาทิ หญิงคลอดบุตรอายุเฉลี่ย 19 ปี ไม่ฝากครรภ์ ร้อยละ 27 คลอดที่บ้าน ร้อยละ 61 คลอดกับหมอตำแย ร้อยละ 50 ใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ ร้อยละ 62 ไม่ได้ชั่งน้ำหนักเด็กแรกคลอด ร้อยละ 52 เด็กอายุ 0-5 ปี มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 25 เตี้ย ร้อยละ 38 ผอม ร้อยละ 14 พัฒนาการเด็กสมวัย ร้อยละ 48 ฟันผุ ร้อยละ 26 เด็ก 6-14 ปี เตี้ย ร้อยละ 28 ฟันผุ ร้อยละ 35 มีส้วมใช้ ร้อยละ 51 ครัวเรือนไม่มีส้วมใช้ไปถ่ายในป่าทุ่ง ร้อยละ 80 และเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนครัวเรือน ร้อยละ 84 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสานเสริมพลังและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อน และก้าวผ่านความท้าทายในการพัฒนาให้มีสิทธิและโอกาสแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน การสัมมนาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวที สานพลังเสริมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมโภชนาการ สุขภาพอนามัยเด็กและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ศศช. ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานเด่น แนวปฏิบัติที่ดี และนวัตกรรมด้านสุขภาพ บนพื้นที่สูง อันจะเป็นต้นแบบและแนวทางการเรียนรู้สู่การประยุกต์ใช้และการปฏิบัติขยายผลในพื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุมและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น