ปั้นเยาวชนไทยใจยุติธรรม พัฒนาระบบยุติธรรมไทยที่ต้นเหตุ

ข่าวทั่วไป Friday January 11, 2008 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--กระทรวงยุติธรรม
เพราะปัญหาที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาจากการกระทำความผิด ดังนั้นหากสามารถสร้างเด็กที่รู้และเข้าใจกฎหมายมีหัวใจยุติธรรมก็จะเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการกระทำผิด และหนึ่งในกิจกรรมที่ถือเป็นมาตรการเชิงรุกที่กำลังปรากฎผลอย่างน่าภูมิใจคือ การดำเนินโครงการเยาวชนพลยุติธรรมเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ของสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
เป็นการรุกตรงไปถึงโรงเรียนและตัวเด็กด้วยการสนับสนุนให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์เกี่ยวกับความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตโดยเด็กและครูช่วยกันคิดช่วยกันทำ เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการค้นหาและปฏิบัติจริงในรูปกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ซึ่งไม่นานมานี้ก็มีการจัดงานประกวดระดับประเทศ โดยมีโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการเยาวชนพลยุติธรรม 80 โรงเรียนและโรงเรียนต้นแบบเหล่านี้จะเป็นแกนนำในการขยายเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้น มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่าแสนคนตั้งแต่ระดับช่วงชั้นที่ 2 ถึง ระดับช่วงชั้นที่ 3 หรือตั้งแต่ประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นปฏิบัติการเชิงรุกที่กระทรวงยุติธรรมภูมิใจเพราะคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า
ระบบงานยุติธรรมของประเทศไทยเท่าที่เป็นมาและเป็นอยู่ในขณะนี้ยังอยู่ในฐานะที่ไม่อาจทัดหน้าเทียมตากับนานาอารยประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยังมีข้อจำกัดและข้ออ่อนด้อยอีกหลายจุดหลายประการ และที่สำคัญที่สุด ความตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญเรื่องความยุติธรรมในสังคมไทยก็ยังไม่แน่นแฟ้นเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนเหมือนประเทศที่เขาพัฒนาระบบงานยุติธรรมอย่างมั่นคงแล้วแล้วซึ่งนั่นก็ต้องใช้เวลาพัฒนานับพันปี กระทรวงยุติรรมจึงมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ริเริ่มจัดทำโครงการนี้ขึ้น ถือเป็นโครงการที่ให้ผลเชิงรุกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอุบัติภัย ความวิวาทบาดหมางและอาชญากรรม มิให้เกิดขึ้นและขยายตัวออกไปเกินกว่าที่จะเป็น
โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมและปลูกจิตสำนึก สร้างทัศนคติที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเรื่องความรู้ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความซื่อสัตย์ และการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลทุกรัฐบาลของประเทศไทย ในการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นและอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ และจากการดำเนินงานของโครงการตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนต้นแบบที่ดำเนินกิจกรรมโครงการยุติธรรมแล้วกว่า 80 แห่ง และจะขยายผลให้มั่นคงต่อไป โดยจะเน้นเป้าหมายไปที่ปัญหาความขัดแย้ง วิวาทบาดหมางระหว่างนักเรียนนักศึกษาต่างสถาบันให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
หนึ่งในหลากหลายนวัตกรรมเยาวชนพลยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังตัวอย่างที่นักเรียนโรงเรียนสุเหร่าสมอเซ จังหวัดฉะเชิงเทรา บอกอย่างภูมิใจว่า ตั้งแต่โรงเรียนเข้าร่วมทำกิจกรรมในโครงการเยาวชนพลยุติธรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมการหนีออกนอกโรงเรียนที่น้อยลงเยอะมาก ๆ นับตั้งแต่เกิด “กระบวนการยุติธรรมจำลอง”ขึ้นในโรงเรียน โดยสภานักเรียนตั้งคณะทำงานเพื่อรักษากระบวนการยุติธรรม(จำลอง) ประกอบด้วย พนักงานสอบสวน(ตำรวจโรงเรียน) ทนายความโรงเรียน อัยการโรงเรียน ราชทัณฑ์โรงเรียน(หรือสถานพินิจโรงเรียน) ศาลโรงเรียน และคณะกรรมการสมานฉันท์โรงเรียน ซึ่งทั้งหมดดำเนินการโดยนักเรียน มีครูเป็นที่ปรึกษาในทุกขั้นตอน
“เห็นผลมาก เด็กหนีออกนอกโรงเรียนน้อยลงจากเก่าเยอะมาก ปกติครูตีนักเรียนทุกวันเพราะทำผิดเนื่องจากตักเตือนแล้วไม่ฟังจึงต้องมีการลงโทษ ซึ่งเปลี่ยนจากการตีมาเป็นการตัดสินลงโทษแบบนี้ เขาเห็นอย่างนี้เขาก็ไม่อยากทำผิดแล้วเพราะว่าเขาอาย” เพื่อนนักเรียนช่วยยืนยัน พร้อมยกตัวอย่างว่า เวลาเด็กหนีออกนอกโรงเรียนผู้ปกครองที่เป็นเครือข่ายชุมชนคนยุติธรรมเห็นเข้าก็จะโทร.มาบอก ผู้อำนวยการโรงเรียน วันต่อมาเมื่อเด็กคนนั้นมาโรงเรียน ผู้อำนวยการก็แจ้งตำรวจโรงเรียนมาจับเขา ลงบันทึกประจำวันไว้ เข้าสู่กระบวนการจนกระทั่งพาไปขึ้นศาลโรงเรียน เมื่อศาลตัดสินเสร็จก็ส่งให้สถานพินิจโรงเรียนควบคุมให้เขาทำตามที่ศาลตัดสิน เป็นต้นว่า ทำผิดครั้งแรกตัดเตือน ครั้งที่สองบำเพ็ญประโยชน์ แต่ถ้าคดีร้ายแรงก็เพิ่มโทษให้หนักขึ้น อย่างกรณีคนที่ทะเลาะวิวาทกันโทษก็คือบำเพ็ญประโยชน์แต่จะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความผิด ทำทัณฑ์บน พบผู้ปกครอง เป็นต้น ซึ่งกฎหมายและการลงโทษทั้งหมดที่ใช้นั้นนักเรียนทั้งโรงเรียนช่วยกันร่างขึ้นมาทั้งหมด ร่างเองใช้เอง และผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละฝ่ายก็มีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน
ในโรงเรียนมีตั้งแต่อนุบาลหนึ่งถึง ม.3 ทุกระดับชั้นล้วนอยู่ในกระบวนการสอนกันมาตามลำดับความเหมาะสม เช่น ในช่วงชั้นที่ 1 น้องเล็กก็อาจรู้แค่ว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร พอโตมาก็รู้ถึงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมว่าทำผิดแล้วไปไหน พอ ม.3 ก็จะรู้ครอบคลุมหมดทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรม
นายก้องศรุษฐ์ กลัดเพ็ชร์ หรือ “ไอคิว” โรงเรียนกะทู้วิทยา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ที่โรงเรียนทำกิจกรรมเยาวชนพลยุติธรรม 18 กิจกรรม แต่ที่เด่นๆ คือ โครงการเชื่อพี่แล้วดีเอง โดยคณะกรรมการเป็นนักเรียนชั้น ม.6 ซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งโดยน้องๆ นักเรียนทั้งหมด เพื่อให้เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งเมื่อมีเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างน้องนักเรียนด้วยกันเอง ทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็กได้โดยไม่ต้องถึงฝ่ายปกครอง เป็นการลดภาระงานให้ครูอาจารย์และฝึกความยุติธรรมให้ตัวเราเองด้วย
กิจกรรมการ์ตูนแอนนิเมชั่น (Animation) ที่แทรกเรื่องกฎหมายไว้ทำกฎหมายที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย และเด็กจะซึมซับได้มากกว่า เช่น เรื่องลิงตกน้ำ เรื่องราวของลิงตัวหนึ่งที่ต้องการข้ามฝั่งไปกินอาหารแต่ไม่มีต้นไม้ให้ห้อยโหน ลิงจึงขอความช่วยเหลือจากเต่าให้ช่วยพาไปส่งฝั่งตรงข้าม ด้วยความหวังดีของเต่าที่อยากให้เพื่อนได้กินอาหาร จึงให้ลิงขึ้นหลังแล้วว่ายน้ำไป ปรากฏว่าระหว่างทางลิงเกิดพลัดตกจากหลังเต่าทำให้ลิงจมน้ำเสียชีวิต ทำให้เราได้รู้ว่าเต่าได้ทำความผิดโดยความประมาทได้รับโทษตามกฎหมายแม้ว่าญาติๆ ของลิงตัวไม่เอาเรื่องก็ตาม แต่ถ้าเป็นความผิดโดยเจตนาก็จะมีโทษอีกระดับหนึ่ง
หลังจากมีโครงการเยาวชนพลยุติธรรมแล้วปรากฏว่าบรรยากาศในโรงเรียนดีขึ้นมาก เกิดเป็นความรักความผูกพันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในโรงเรียน จากกิจกรรมที่นักเรียนทั้งโรงเรียนได้ช่วยกันทำเพื่อเป้าหมายเดียวกัน โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ และคอยแนะนำเพิ่มเติมเท่านั้น ตนเองรู้สึกภูมิใจและจะเผยแพร่ความรู้กฎหมายที่ได้รับให้คนที่ไม่รู้
น.ส.ดาวและ น.ส.เดือน พงศาการ พี่น้องคู่แฝดจากโรงเรียนส่องแสงพณิชยการ จ.สงขลา กล่าวว่า การได้ร่วมกิจกรรมหลาย ๆ อย่างในโครงการเยาวชนพลยุติธรรมที่จัดขึ้นในโรงเรียน ได้ความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการได้ไปดูกระบวนการพิจารณาของศาล ไปดูห้องไกล่เกลี่ย ห้องสอบสวนเด็ก และรู้สึกว่าน่ากลัว คิดว่าชาตินี้จะไม่ขอทำความผิด ได้นำเรื่องนี้ไปเล่าหน้าเสาธงเพื่อบอกต่อเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ไป มีกรณีหนึ่งที่ศาลท่านเล่าให้ฟัง ว่ามีเด็กคนหนึ่งอายุไม่ถึง 18 ปี ซึ่งตามกฎหมายถ้าอายุไม่ถึง 18 ปีไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่กรณีนี้คือเขาไปทำร้ายเพื่อนโดยการฟันคอและยิงซ้ำที่หัวอีก ผู้พิพากษาบอกว่าพิจารณาดูแล้วเด็กคนนั้นมีจิตใจโหดร้ายเกินผู้ใหญ่ เลยสั่งให้จำคุกด้วย กรณีนี้ก็ประทำใจทำให้จำข้อกฎหมายนี้ได้ไปเลย
ดาวและเดือน บอกอีกว่า แม้เป็นโรงเรียนพาณิชย์แต่ก็ไม่มีปัญหารุนแรงอย่างตีกัน เพราะเวลาทำกิจกรรมเราเปิดกว้างและชวนพวกหัวโจกมาร่วมกิจกรรมด้วย พวกนี้ก็จะนำเพื่อนให้ทำกิจกรรมได้ทั้งความรู้และสนุกสนาน สองพี่น้องนิยาม “ความยุติธรรม” คือเสมอภาคเป็นกลาง มีค่าสำหรับทุกคน และกฎหมายก็เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะตั้งแต่เกิดจนตายชีวิตเราล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ด้าน ผศ.ดร.ศิริพร แย้มนิล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการเยาวชนพลยุติธรรมฯ กล่าวว่า กิจกรรมตามโครงการนี้วิธีการคือให้เงินทุนเริ่มต้นโรงเรียนละ 5,000 บาท ให้ครูเป็นพี่เลี้ยง กิจกรรมส่วนใหญ่เกิดจากเด็กเป็นคนคิด โดยให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผ่านไปสักเดือนครึ่งก็จัดเวทีประกวดให้เด็กได้นำเสนอผลงาน ซึ่งรูปแบบการตัดสินก็จะมี 2 ส่วนคือการทำจริงที่โรงเรียน และการแสดง/นำเสนอบนเวที การเผยแพร่ความรู้กฎหมายมาให้เป็นกฎหมายเบื้องต้นที่เหมาะสมกับวัย จัดวิทยากรบรรยาย พาไปดูกระบวนการ สถานที่จริง ให้หนังสือ ให้เอกสารเผยแพร่ บอกแหล่งการค้นหา เพราะไม่เน้นเรื่องการป้อนให้กับเด็ก แต่เน้นเรื่องการให้เด็กแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นกิจกรรมที่เด็กทำจึงค่อนข้างหลากหลาย เกิดความรู้ที่ได้มาจากการค้นคว้าด้วยตัวเอง เป็นความรู้ที่จะติดตัวเขาไปตลอด
จากการติดตามก็เห็นความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและเห็นความเปลี่ยนแปลง ครูใหญ่หรือครูที่เป็นแกนนำจะบอกเลยว่าเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลง รู้จักคิดมากขึ้น และมีความรู้สึกว่าเขาเป็นผู้นำ เขาทำโครงการนี้ เขาต้องเป็นตัวอย่างในการทำดีและไม่กล้าทำผิด ระวังตัวมากขึ้น ที่น่าสนใจคือหลายโรงเรียนผนวกเรื่องกฎหมายเข้าไปในสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคม ฯลฯ เกิดนวัตกรรมหลายอย่างที่เด็กและครูช่วยกันคิดและทำขึ้น ตั้งแต่นิทาน เพลง การแสดงละคร แอนนิเมชั่น และเกมส์ เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งตอนนี้ก็มีต้นแบบโรงเรียนเยาวชนพลยุติธรรม ที่จะเป็นแกนนำไปขยายเครือข่ายให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนได้ต่อไป และที่สำคัญเด็กได้ความรู้และตระหนักว่าเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่ในวิถีชีวิตที่ต้องรู้และเข้าใจ.
เผยแพร่โดย ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม โทร.0-2270-1350 ต่อ 113 e-mail:prjustice2007@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ