กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ปกครองควรสอนเด็กให้เรียนรู้ความปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านและชุมชนให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติภัยต่างๆ และช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตเด็ก ซึ่งจะเติบโตเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติในอนาคต
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ในแต่ละปีเด็กไทยเสียชีวิต จากอุบัติเหตุประมาณ 3,000 — 4,000 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก ผู้ปกครองควรตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็กและควรสอนให้เด็กเรียนรู้ความปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น บันได ประตู หน้าต่าง เตียง ชั้นวางของ ฯลฯ ผู้ปกครองควรหมั่นตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆให้มั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ และสอนเด็กไม่ให้ปีนป่าย เนื่องจากอาจพลัดตกจนได้รับบาดเจ็บได้ สำหรับในห้องครัวที่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและของมีคมต่างๆ ควรสอนให้เด็กรู้จักประโยชน์และโทษของอุปกรณ์เหล่านั้น โดยเฉพาะห้องน้ำ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อย ให้เด็กอยู่ในห้องน้ำตามลำพัง เนื่องจากอาจลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ หรือเด็กแอบลงไปเล่นน้ำในอ่างน้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ สำหรับบ้านที่มีบ่อน้ำ สระน้ำ หรือคูน้ำ ควรสร้างรั้วกั้น และไม่ควรให้เด็กเล่นบริเวณริมน้ำโดยลำพัง เพราะอาจพลัดตกลงน้ำจนเสียชีวิต ในส่วนการเล่นของเล่นของเด็ก ควรสอนให้เด็กรู้วิธีการเล่นของเล่นอย่างปลอดภัย และไม่ควรให้เล่นของเล่นที่มีลักษณะ เป็นอาวุธ เช่น มีดปลอม ปืนปลอม เนื่องจากเด็กไม่สามารถแยกแยะของเล่นและของจริงได้ ซึ่งหากเด็กหยิบของจริงมาเล่นอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับสารเคมีที่มีอยู่ภายในบ้านควรแยกเก็บจากของใช้ภายในบ้านและเก็บอย่างมิดชิด
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า สิ่งแวดล้อมในชุมชนเป็นสิ่งที่เด็กๆสามารถเรียนรู้การป้องกันภัยได้เช่นกัน เช่น การข้ามถนน ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักการข้ามถนนโดยใช้สะพานลอยหรือข้ามทางม้าลาย และก่อนข้ามถนนควรมองซ้าย-ขวาก่อนทุกครั้ง และควรเดินบนทางเท้า หากถนนไม่มีทางเท้าควรเดินด้านที่รถวิ่งสวนมาและเดินชิดใน สำหรับบ้านที่มีรถจักรยานยนต์ควรสอนให้เด็กเรียนรู้กฎจราจรและสวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่ ทั้งนี้ไม่ควรให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถจักรยานยนต์ หากโดยสารรถยนต์ควรฝึกให้เด็กเล็กนั่งในที่นั่งเบาะหลังของรถยนต์ เนื่องจากจะมีความปลอดภัยมากกว่าการนั่งด้านหน้า กรณีในครอบครัวมีเด็กทารกควรจัดให้นั่งในที่นั่งเฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น ไม่ควรนำเด็ก มานั่งตักขณะขับรถโดยเด็ดขาด หากเป็นเด็กโตควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่โดยสารรถยนต์ เพื่อลดแรงกระแทกหรือ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญ ผู้ใหญ่ควรเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และควรสอนให้เด็กเรียนรู้ ถึงภัยอันตรายและกฎความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติภัยกับเด็ก