กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
- ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยรองรับ East-West Economic Corridor คาดผลิตภัณฑ์ประกันภัย "โลจิสติกส์-ท่องเที่ยว-การประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง-การประกันภัยแบบ Multi Model Transport – ประกันชีวิต – ประกันภัย พ.ร.บ." เติบโตฉลุย พร้อมให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยกับประชาชนอย่างครบวงจร ดีเดย์เปิดสอบใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จังหวัดตาก ตั้งอยู่เลขที่ 147/10-11 หมู่ 9 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 โดยกล่าวว่า การประกันภัยมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งภาคครัวเรือนพาณิชยกรรม เกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขยายตัวทางการค้า การลงทุน การระดมเงินออมในประเทศ นับว่าเป็นเครื่องมือในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิสงเคราะห์ของภาครัฐได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลธุรกิจประกันภัยของจังหวัดตาก พบว่ามีเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,334 ล้านบาท แยกเป็นประกันชีวิต 1,734 ล้านบาท ประกันวินาศภัย 600 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่อำเภอแม่สอด อันจะส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยในจังหวัดตาก เจริญเติบโตและขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องขอบคุณ เลขาธิการ คปภ. ที่เล็งเห็นความสำคัญและใช้ระบบประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนและรองรับระบบโลจิสติกส์ที่จะมีการเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้าและการขนส่งผ่านแดนที่จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้อย่างสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จังหวัดตาก เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอำเภอแม่สอด ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อปี 2558 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชัยภูมิเหมาะสมต่อการค้า การลงทุนระหว่างไทยและเมียนมา ส่งผลให้แม่สอดได้รับการพัฒนาจนมีระบบการคมนาคมขนส่งที่สะดวก มีสนามบินขนาดใหญ่รองรับเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ที่กำลังจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นสะพานการค้าที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor อันจะเชื่อมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเมียนมา ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งผลให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอำเภอแม่สอดจำนวนมากทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วมีการสร้างศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งทุกรูปแบบ เข้ามาเปิดตลาดในพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงการท่องเที่ยวและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทั้งแบบที่กฎหมายบังคับให้ทำและแบบสมัครใจ สามารถเข้าไปบริหารความเสี่ยงในกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 การทำประกันภัยอุบัติเหตุ ให้กับนักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์
ส่วนการทำประกันภัยแบบภาคสมัครใจที่สามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ เช่น การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ การประกันสินค้าที่ขนส่งภายในประเทศ การประกันภัยแบบ Multi Model Transport ที่เป็นประกันภัยความรับผิดที่คุ้มครองความรับผิดของผู้รับส่งสินค้าระหว่างประเทศ หากเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง รวมทั้งการประกันภัยความรับผิดของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ โดยให้ความคุ้มครองเฉพาะกลุ่มของผู้ประกอบการโลจิสติกส์เต็มรูปแบบตั้งแต่มีการรับส่งสินค้าเข้ามาในโกดังเพื่อจัดเก็บและเตรียมการขนส่ง การจัดเก็บสินค้า การบรรจุสินค้าและอื่นๆ อันเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รวมถึงความรับผิดต่อสินค้าในขณะทำการขนส่งด้วย และอีกประเภทหนึ่งคือการประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจการค้าที่ต้องมีการขนส่งสินค้าเป็นประจำ รวมถึงผู้ประกอบการรับจ้างขนส่ง ดังนั้นระบบบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยจึงมีบทบาทสำคัญต่อผู้ประกอบการ โลจิสติกส์และการค้า การขนส่งผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ CLMV เป็นอย่างมากอีกด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจข้างต้น ส่งผลให้การประกอบธุรกิจประกันภัยในพื้นที่อำเภอแม่สอด มีแนวโน้มการทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของประชาชนที่ทำประกันชีวิต บ้านเรือน ร้านค้า รถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำประกันวินาศภัย จนทำให้ผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัย คนกลางประกันภัย ตัวแทน นายหน้า ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ มีการตั้งสาขาศูนย์บริการขึ้นในพื้นที่อำเภอแม่สอดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปด้วยความสะดวก รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ระบบการประกันภัยมุ่งตรงสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง จึงเห็นสมควรย้ายที่ตั้ง สำนักงาน คปภ. จังหวัดตาก ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่อาคารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก อำเภอเมือง มายังสำนักงานเลขที่ 147/10-11 หมู่ 9 ตำบล แม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อรองรับความเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย โดยในการดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. จังหวัดตาก ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านประกันภัยแก่ประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในการรับเรื่องร้องเรียน จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น ต่อใบอนุญาตตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย ฯลฯ โดยเชื่อมโยงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กับบริษัทประกันภัย และโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด มีการเชื่อมโยงระบบไอทีกับ สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เพื่อเป็นศูนย์สอบนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย โดยจะเปิดบริการจัดสอบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ซึ่งจะทำให้ผู้ที่จะสอบใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัยไม่ต้องเดินทางกว่า 400 กิโลเมตรเพื่อไปสอบใบอนุญาตที่ศูนย์สอบจังหวัดเชียงใหม่หรือศูนย์สอบที่จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรองรับประชาชนที่เคยใช้บริการในพื้นที่เดิมไว้ เช่น เพิ่มช่องทางการติดต่อหรือการให้บริการโดยการผ่านหน่วยงานเครือข่าย และศูนย์ดำรงธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย อำนวยความสะดวกและสร้างความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริโภคด้านการประกันภัยอย่างครบวงจร