กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ โครงการสถาบันไอโอที โครงการเมืองอัจฉริยะ โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G และโครงการ Digital University เพื่อพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC โดยคาดว่าสามารถลงนามในสัญญาและเริ่มดำเนินโครงการได้ภายในเดือนธันวาคม 2561 พร้อมกำหนดการประชุมหารือแนวทางการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G และดำเนินการ 5G Testbed ในพื้นที่ EEC โดยได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในส่วนของพื้นที่การจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G และดำเนินการ 5G Testbed เป็น Field Trial โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ในฐานะผู้ดำเนินโครงการสถาบันไอโอที และเลขานุการร่วมคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก และดำเนินงาน Use case เช่น Smart bus ร่วมกับเทศบาลนครแหลมฉบัง ที่เชื่อมต่อ 5G Wi-Fi พร้อมให้หน่วยงานหรือธุรกิจ Startup ต่อยอดเทคโนโลยีได้ เพื่อนำไปสู่การเป็น Super Smart Bus ต่อไป
สำหรับการวางกรอบแนวทางในการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในห้องทดลองและทดสอบภาคสนามนั้น คณะทำงานได้ประชุมหารือเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยกระทรวงฯ จะทดสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับแอปพลิเคชันในด้านต่าง ๆ โดยจะทดสอบในพื้นที่ EEC ส่วนกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะอำนวยความสะดวกและพิจารณาย่านความถี่มาใช้ในการทดสอบ โดยน่าจะเป็นคลื่นความถี่ตั้งแต่ 3300-4200 เมกกะเฮิรตซ์ และ 24,000-29,000 เมกกะเฮิรตซ์ หรือ 24-29 กิกะเฮิรตซ์ สำหรับการทำงานของคณะทำงานเตรียมการ 5G ยังทำงานร่วมกับสมาชิกที่มาจากหน่วยงานราชการ เช่น มหาวิทยาลัย กสทช. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ 5G alliance
"หากมองไปข้างหน้าในปี 2562 เรียกได้ว่าจะเป็นปีแห่งการทดสอบระบบ ซึ่งจะทำขนานไปกับการประสานงานในการขอคลื่นความถี่ให้เรียบร้อย เพื่อที่ว่าเมื่อมาตรฐาน 5G มีความพร้อมสมบูรณ์เมื่อไร การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้วก็เชิงสังคม ก็จะเกิดขึ้นได้ประสิทธิภาพ และเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันที ในอนาคตเมื่อมีการทำสอบระบบ 5G แล้ว ก็จะทำให้พื้นที่ EEC กลายเป็นพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ 5G อย่างกว้างขวาง จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ เกิดแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่จากอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินไปพร้อมกับการเกิดโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายในพื้นที่ที่กำลังจะพัฒนาเกิดขึ้น อาทิ สนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรือ 2 ท่าเรือ, รถไฟความเร็วสูงเป็นต้น" ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า ในฐานะผู้ดำเนินโครงการสถาบันไอโอที และเลขานุการร่วมคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพด้าน Digital เพื่อ EEC หรือ EEC Digital Academy Thailand (DAT) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล สำหรับเขต EEC โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม AI เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรม new S-curve ในการใช้เทคโนโลยีด้าน AI และ Data Sciences อันจะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอื่น ๆ เช่น IoT, Robotics และเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล อันจะนำไปสู่การยกระดับแรงงานในพื้นที่ EEC โดยการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อปรับทักษะ ในหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยโครงการนี้ดีป้าสนับสนุนผ่านมาตรการ Infra Fund 50,000,000 บาท มีระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดทำ และนำเสนอเอกสารโครงการต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณาคัดกรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2561 และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2561 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้อนุมัติโครงการดังกล่าวแล้ว และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาและเริ่มดำเนินโครงการได้ภายในเดือนธันวาคม 2561