กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลดเสี่ยงภัยแล้ง เดินหน้าปรับแผนปลูกพืช เฉลี่ยพื้นที่ข้าว-พืชไร่-ผัก
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องประกาศสิ้นสุดฤดูฝนและเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561 โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนประสบความแห้งแล้งไปจนถึงเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งปกติจะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป แต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 มีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยในบางพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำของประเทศไทย ในปี 2562 จัดอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งนี้จะไม่รุนแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้น หน่วยงานภาคการเกษตรจึงร่วมกันวางแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมวางแผนป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้งด้านการเกษตร กับหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การป้องกัน โดยทำบัญชีน้ำและสรรพกำลัง (คน เครื่องจักร อาหาร ยาสัตว์ พันธุ์พืช/สัตว์) ประเมินพื้นที่เสี่ยง สร้างการรับรู้ จัดทำบ่อ/ฝาย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและบำรุงรักษาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บ 2.เตรียมการ โดยสำรองเวชภัณฑ์ เสบียงสัตว์ ภาชนะระบบน้ำหยด ประเมินแนวโน้มข้อพิพาทปัญหาการแย่งน้ำ และรายงานสถานการณ์ 3.กรณีเผชิญเหตุ เตรียมร้องขอเพื่อสนับสนุนน้ำ เวชภัณฑ์ เสบียงสัตว์ การขนส่ง จุดรับน้ำ วางแผนจัดสรร เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท บริหารจุดอพยพ พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันต่อสถานการณ์ 4.หากต้องฟื้นฟู เตรียมการประเมินขนาดความรุนแรง การช่วยเหลือเฉพาะหน้า สนับสนุนเงินทุนพัฒนาการผลิต/ปรับเปลี่ยนอาชีพให้เหมาะสมกับภูมิประเทศหรือจัดสร้างแหล่งน้ำ รวมถึงการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป
สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนส่งเสริมการปลูกพืชให้แก่เกษตรกร โดยเฉลี่ยพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 ปลูกพืชไร่ และปลูกพืชผัก ตามสัดส่วนความเหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อเกษตรกร
มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตรด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ใน 2 โครงการคือ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง และโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพด
หลังฤดูทำนา ซึ่งมีการวางแผนการตลาด ประสานเอกชนรับซื้อผลผลิตการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมงานหัตถกรรม หรือปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ทดแทนการปลูกพืชในกรณีเข้าสู่สถานการณ์ฝนทิ้งช่วง
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งกำชับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกภูมิภาคเดินหน้าสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหาย ประกอบกับเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นด้วย