กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) โอนหลักประกันคืนเกษตรกร ภายหลังที่เกษตรกรชำระหนี้คืน กฟก. ครบตามแผนชำระคืนที่กำหนด ปัจจุบันสามารถโอนคืนให้เกษตรกรจำนวน 27,343 ไร่
นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน กฟก. ได้ชำระหนี้แทนเกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 29,224 ราย เป็นเงินรวม 6,091,723,041.55 บาท แยกเป็นสถาบันเจ้าหนี้ ได้แก่ ธ.ก.ส. 3,593 ราย ธนาคารพาณิชย์ 3,244 ราย นิติบุคคล 612 ราย สหกรณ์ 21,324 ราย และหนี้ NPA 451 ราย และตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 มาตรา 37/9 วรรคสอง เมื่อกองทุนรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรตามวรรคหนึ่งแล้วให้ทรัพย์สินของเกษตรกรที่ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตกเป็นของกองทุน และเกษตรกรจะได้รับทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืนไปจากกองทุนโดยการเช่าซื้อ หรือซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืนไปจากกองทุน และดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของเกษตรกรที่ตกเป็นของกองทุน พ.ศ. 2553
การดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีการชำระหนี้แทนให้เกษตรกรสมาชิกจนถึงปัจจุบัน (1 กุมภาพันธ์ 2549 – 31 ตุลาคม 2561) กฟก. ได้โอนหลักทรัพย์คืนให้เกษตรกรที่ได้รับการชำระหนี้แทนจากกองทุนฯ และเกษตรกรได้ชำระหนี้คืนกองทุนฯ เสร็จสิ้นตามสัญญาและขอไถ่ถอนหลักประกันคืน จำนวน 3,452 ราย คิดเป็นเนื้อที่ 37,343 ไร่ 3 งาน 39.6 ตารางวา โดยแยกตามรายภูมิภาคออกเป็น ภาคเหนือ 4,067 ไร่ ภาคกลาง 14,947 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,444 ไร่ และภาคใต้ 1,883 ไร่
สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ตระหนักถึงการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามเจตนารมณ์ เพราะยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ต้องการหลักประกันคืน ดังนั้นในกรณีที่เกษตรกรชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาและเป็นไปตามเงื่อนไขและตามที่ระเบียบกำหนดไว้ เกษตรกรสามารถยื่นความจำนงขอหลักประกันคืน กฟก.จะเร่งดำเนินการคืนหลักประกันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สำหรับภารกิจในเรื่องการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกร เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมและแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน นายสไกรกล่าว