กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานในหัวข้อ "ทิศทางการพัฒนาเกษตรกร 4.0" ในโอกาสเป็นประธานพิธีประกาศผลโครงการประกวด "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน" ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร กับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ณ อาคารปฏิบัติการ บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง ว่า ภาคการเกษตรของไทยยังคงประสบกับปัญหา อาทิ ราคาผลผลิตที่ขาดเสถียรภาพ การใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่เหมาะสม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการพัฒนาภาคการเกษตรให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มุ่งแก้ไขและพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาวเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ "เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน" โดยในปี 2561 เป็นปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์"Thailand 4.0" และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเกษตร รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้ามุ่งสู่การเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
สำหรับ โครงการประกวด "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" ประจำปี 2561 จัดขึ้นในแนวคิด "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน" มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรไทย สู่การเป็นเกษตรกรต้นแบบ(Smart Farmer) เป็นผู้มีความรู้ สามารถนำไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มีทักษะการปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง เข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตร ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นไปยังเกษตรกร ผู้ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญสำหรับผู้นำเกษตรกรในยุคไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้กรอบแนวคิดและเป้าหมาย เรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน มีพื้นฐานสำคัญ 3 องค์ประกอบได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในการดำเนินการจัดกิจกรรม "ส่งเสริมการเรียนรู้โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสา แก่เกษตรกร" ในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญทั้งด้านการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนา และเชิดชูเกียรติเกษตรกร พร้อมทั้งบทบาทสำคัญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารอีกด้วย
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 โดยในแต่ละปีจะคัดเลือกเกษตรกร จำนวน 10 ราย เพื่อเข้ารับรางวัลในโครงการประกวดฯ สำหรับปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน" เพื่อสรรหาเกษตรกรต้นแบบที่เป็นผู้นำในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีความรอบรู้นำไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สามารถปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรอบด้าน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 10 คนที่ผ่านเข้ารอบการคัดเลือกในโครงการฯ
สำหรับผลการตัดสินมีผู้ได้รับรางวัลในโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2561 ดังนี้รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา เกษตรกรไร่สตรอว์เบอรี่ จ.สุพรรณบุรี, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ น.ส.ลลิดา คำวิชัย เกษตรกรชาวสวนมะม่วง 'ไร่ณ ชายแดน' จ.สระแก้ว และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายอาญาสิทธิ์ เหล่าชัย เกษตรกรนาข้าว 'อารยะฟาร์ม' จ.ร้อยเอ็ด ตลอดจนรางวัลดีเด่น อีก 7 รางวัล