สภานิติบัญญัติเห็นชอบกรอบเจรจาอาเซียน — สหภาพยุโรป

ข่าวทั่วไป Friday January 11, 2008 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
พาณิชย์ชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับรายละเอียดของกรอบการเจรจาของไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป รวมทั้งเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย ของการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงนี้
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติถึงรายละเอียดกรอบการเจรจาของไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป โดยสภานิติบัญญัติได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปของไทยตามที่รัฐบาลเสนอ โดยกรอบที่สภานิติบัญญัติให้ความเห็นชอบนั้นครอบคลุมหัวข้อการเจรจาหลายเรื่อง เช่น การลดภาษีสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการปกป้องและมาตรการเยียวยาทางการค้า และความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น
การเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปรอบแรก จะเริ่มขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2551 คาดว่าจะใช้เวลาเจรจาประมาณ 2 — 3 ปี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะได้มีการประชุมหารือและประสานกับทุกภาคส่วน เพื่อขอรับความเห็นและข้อเสนอแนะ ต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปประกอบการกำหนดท่าทีในการเจรจาต่อไป
ผู้ประกอบการและนักธุรกิจสามารถเสนอความเห็นผ่านทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เกษตรกร นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป สามารถส่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดยตรงมาที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เลขที่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 หรือทางโทรสารหมายเลข 0 2547 5627 หรือทางอีเมล์ aseaneu@dtn.go.th ภายในวันที่ 30 เมษายน 2551
นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำหนดจะประชุมหารือและจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียนสหภาพยุโรปเป็นระยะ ขอให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชน ติดตามข่าวการประชาสัมพันธ์ และเข้าร่วมการสัมมนา เพื่อรับทราบข้อมูลและเตรียมการวางแผนเพื่อปรับตัวรองรับความตกลงระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ