กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength: IFS) ของบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ที่ 'BBB+' (หรืออยู่ในระดับ "ดี") และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ที่ 'AAA(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ TLI สะท้อนถึงการที่บริษัทมีโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตที่ดี ('Good' Business Profile) อัตราส่วนเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ('Strong' Capitalisation) และความเสี่ยงด้านการลงทุนและคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับดี ('Good' Investment and asset risk) อีกทั้งยังสะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแรงของบริษัทแม้อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรับจะชะลอตัวลงบ้าง อย่างไรก็ตามอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของ TLI ถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทย (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ 'BBB+' และยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของบริษัทในกรณีที่ไม่ถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศที่ 'A-' อยู่ 1 อันดับ
ฟิทช์คาดว่า TLI จะยังคงมีโครงสร้างทางธุรกิจที่ดีต่อเนื่องในระยะปานกลางจากเครือข่ายการดำเนินงานที่มีขนาดใหญ่และเครือข่ายตัวแทนขาย (tied-agency force) ที่แข็งแกร่ง บริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเบี้ยประกันชีวิตรับรวมเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2561 และมีส่วนแบ่งทางการตลาดของช่องทางขายผ่านตัวแทนขายเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นและมีอัตรากำไรที่ดีน่าจะช่วยสนับสนุนความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไปในอนาคตได้
ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานะของเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อเนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับที่ดี ความแตกต่างระหว่างอายุสินทรัพย์และหนี้สิน (asset-liability mismatch) ที่ลดลง และความเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์ที่ไม่สูงมากนัก (moderate asset risk) ฐานะเงินกองทุนที่แข็งแรงน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงรองรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2562 และจะกำหนดเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงในด้านต่างๆในระดับที่สูงขึ้นได้ ระดับเงินกองทุนของ TLI ที่ 356% นั้นยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่ 140% อยู่มาก อีกทั้งผลการประมาณการระดับเงินกองทุนของบริษัทจากแบบจำลอง Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) ของฟิทช์ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ('Strong') อ้างอิงจากข้อมูลทางการเงิน ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2561
ความเสี่ยงด้านการลงทุนและคุณภาพสินทรัพย์ของ TLI ยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้ แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะเพิ่มการลงทุนในตราสารทุนเพื่อชดเชยผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้พอร์ตการลงทุนของบริษัทยังมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่มีคุณภาพดีที่ประมาณ 53% ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของมูลค่าเงินลงทุนรวม ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2561 ความแตกต่างระหว่างอายุสินทรัพย์และหนี้สิน (Duration Gap) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะเวลาการลงทุนยาวเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทที่อาจได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
ฟิทช์มองว่าผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในระดับที่ดี สะท้อนจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยในระหว่างปี 2558 – 2560 ที่ 2.3% อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของฟิทช์สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ 'A' – 'BBB' สำหรับอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับของ TLI ที่ชะลอตัวนั้นโดยสาเหตุหลักมาจากเบี้ยประกันชีวิตรับของผลิตภัณฑ์แบบสะสมทรัพย์ที่ลดลงจากการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในระดับต่ำและจากภาวะหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ TLI คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยรับจากผลิตภัณฑ์ประเภทคุ้มครองและผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้แก่
- การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 250% และการปรับตัวลดลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM มาอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับแข็งแกร่ง ('Strong') เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยที่ต่ำกว่า 1% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local-Currency IDR) ของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยจากแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้แก่
- การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TLI ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของบริษัทอยู่ระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+' และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่ 'AAA(tha)' เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดแล้ว
- อย่างไรก็ตาม หากฟิทช์ประกาศใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตบริษัทประกันภัยตาม Exposure Draft ที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ฟิทช์จะยกเลิกการจำกัดอันดับเครดิตของบริษัทประกันภัยไว้ในระดับที่ไม่สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศ ('top-down' sovereign constraint) และจะเปลี่ยนมาเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างเครดิตโดยรวมของบริษัทเอง ('bottom-up' analysis of country risk) ดังนั้น อันดับเครดิตของ TLI อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากผลการดำเนินงานและโครงสร้างธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ