กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
วธ. ถกแนวทางแก้ปัญหาที่พักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถาน -แหล่งโบราณคดี -คูเมืองกำแพงเมืองโบราณทั่วประเทศ เผยสำนักศิลปากร 12 แห่ง รายงานเบื้องต้นสำรวจพบมีการเข้าอาศัย-ทำกิน 155 แห่ง กรมศิลปากรให้สำนักศิลปากรแต่ละพื้นที่ดำเนินการนำร่องแก้ปัญหา 1-3 แห่ง คลอดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น-ระยะยาว แนะหาวิธีแก้เน้นประชาชนต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
วันที่ 28 พ.ย.2561 ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมการจัดการพื้นที่แหล่งโบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรม ว่า ที่ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาประชาชนพักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งปัจจุบันมีโบราณสถานทั่วประเทศกว่า 8,000 แห่ง โดยในจำนวนนี้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วกว่า 3,000 แห่ง และข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่า มีแหล่งโบราณสถานที่ประชาชนพักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถานในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ 1ราชบุรี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี สำนักศิลปากรที่ 6สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา สำนักศิลปากรที่ 11สงขลาและสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช รวมทั้งหมด 155 แห่ง และมีประชาชนพักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถาน 9,594 ราย
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาที่ประชาชนพักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถาน โดยกรมศิลปากรได้ให้สำนักศิลปากรทั้ง 12 แห่ง ดำเนินการนำร่องแก้ปัญหาประชาชนพักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถานในจังหวัดต่างๆ ทั้งหมด 17 แห่ง ได้แก่ 1.สำนักศิลปากรที่ 1ราชบุรี 1 แห่ง ได้แก่ ถ้ำเขาพระนาขวาง จ.เพชรบุรี 2.สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี 2 แห่ง ได้แก่ คูและกำแพงเมือง(เมืองโบราณสุพรรณบุรี) จ.สุพรรณบุรี กำแพงเมืองกาญจนบุรีใหม่ จ.กาญจนบุรี 3.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา 2 แห่ง ได้แก่ คลองประตูข้าวเปลือก บริเวณชุมชนวัดราชประดิษฐาน และวัดถนนจีน จ.พระนครศรีอยุธยา 4.สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี 1 แห่ง ได้แก่ โบราณสถานสระมะโนรา จ.ลพบุรี 5.สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี 2 แห่ง ได้แก่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว และเมืองโบราณเพนียด จ.จันทบุรี 6.สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย 1 แห่ง ได้แก่ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาคูเมืองกำแพงเมืองสุโขทัยด้านตะวันออก และโบราณสถานวัดอาวาสน้อย จ.กำแพงเพชร 7.สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ กำแพงเมือง-คูเมือง นครเขลางค์ จ.ลำปาง และวัดศรีชุม จ.ลำปาง 8.สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น 2 แห่ง ได้แก่ กู่แก้ว จ.อุดรธานีและกู่บ้านโนนกู่ จ.ขอนแก่น 9.สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี 2 แห่ง ได้แก่ กู่พระโกนา จ.ร้อยเอ็ด และคูและกำแพงเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด 10.สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา 2 แห่ง ได้แก่ กำแพงเมืองสงขลาเก่าฝั่งบ่อยาง จ.สงขลาและกำแพงเมือง-คูเมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดง จ.สงขลา และ11.สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช 1 แห่ง ได้แก่ ฐานพระสยมภูวนารถ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ สำหรับการแก้ปัญหาประชาชนพักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถานในจังหวัดต่างๆ โดยการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ กรมศิลปากรต้องระมัดระวังไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรจำเป็นต้องปฏิบัติการตามภาระหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดในการดูแลปกป้องโบราณสถาน
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้กำชับให้กรมศิลปากรดำเนินการแก้ปัญหาตามมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น อาทิ การตรวจสอบการครอบครองสิทธิ์ที่ดินในเขตพื้นที่โบราณสถานและตรวจสอบขอบเขตพื้นที่เช่าให้ชัดเจน ทำหนังสือแจ้งประชาชนที่พักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถานให้ทราบว่า ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่โบราณสถานเพื่อขอความร่วมมือออกจากพื้นที่ เป็นต้น ส่วนระยะยาว อาทิ การตรวจตราพื้นที่โบราณสถานไม่ให้มีประชาชนพักอาศัยและทำกินในเขตพื้นที่โบราณสถานอย่างเข้มงวด ศึกษาทางโบราณคดีเพิ่มเติมบริเวณพื้นที่โบราณสถาน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาถึงความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าวและควบคุมการก่อสร้างอาคารใกล้กับโบราณสถาน จัดทำแผนในการคืนพื้นที่โบราณสถาน บูรณะฟื้นฟูโบราณสถานให้อยู่ในสภาพดีและพัฒนาพื้นที่โบราณสถาน เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนะให้กรมศิลปากรแก้ปัญหาโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมศิลปากร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมธนารักษ์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการแก้ไขปัญหาและเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด