กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
หนึ่งในองค์กรคู่สังคมไทยมากว่า 7 ทศวรรษที่คนไทยรู้จักกันดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักด้านวิศวกรรมของประเทศเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิศวกรรม ประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประเทศชาติ เมื่อเร็วๆนี้จัดงานฉลองวาระครบรอบ 75 ปี ของการก่อตั้งสมาคมวิชาชีพอันทรงเกียรตินี้ ในงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2561" (National Engineering 2018) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะกรรมการ วสท.ท่ามกลางเหล่าวิศวกร แขกผู้มีเกียรติและคนดังจากวงการวิศวกรรมและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม เมืองทองธานี
ภายในงานคับคั่งด้วยบิ๊กเนม วิศวกรจากสาขาต่างๆ คนดังในแวดวงวิศวกรรมและเทคโนโลยี องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ 4 อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้แก่ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค , รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล , ดร. การุญ จันทราวศุ , คุณประสงค์ ธาราไชย , คณะกรรมการ วสท. ชมสีสันการแสดงจากสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และ ศิลปิน นักร้อง พลพล พลกองเส็ง มาร่วมเวที
ย้อนรำลึกการก่อตั้ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นสมาคมวิชาชีพวิศวกรรม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2486นับเป็นเวลากว่า 75 ปี โดยก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมี 2 สมาคมที่เกี่ยวกับช่าง คือ "สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม" ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2471 เป็นการรวมตัวกันของผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการก่อสร้างจากประเทศอังกฤษ กับ "สมาคมวิศวกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนายช่างที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้งสองสมาคมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันเพื่อความร่วมมือทางวิชาชีพวิศวกรรม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการรวม 2สมาคมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรมให้เป็นปึกแผ่น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องการส่งเสริมอาชีพวิศวกรและได้ออกพระราชบัญญัติวิศวกรรมเพื่อควบคุมและให้มีการจัดการวิศวกรด้วยกันเองในหมู่วิศวกร โดยได้ยกเลิก 2 สมาคมดังกล่าว และตั้งเป็นสมาคมใหม่คือ "สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2486 และดำเนินการก่อตั้งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2493 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
งานวิศวกรรมและวิศวกรจำนวนมากในประเทศไทย ได้มีบทบาทสร้างสรรค์และเป็นพลังสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาความเจริญก้าวหน้าเข้มแข็งของประเทศไทยในทุกด้านอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบถนน โครงข่ายคมนาคมและขนส่ง การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน อุปกรณ์ เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ใช้ในงานอุตสาหกรรม การผลิต การพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ จนถึงเทคโนโลยีไอทียุคใหม่ อุปกรณ์ไอโอที แอพลิเคชั่น เอไอหุ่นยนต์ เหล่านี้จำต้องใช้องค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ โดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ออกแบบอุปกรณ์และวิธีการ เพื่อตอบสนองความต้องการของวิถีใหม่ที่ทันสมัย ตลาดที่แตกต่าง รองรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ก้าวไกลและแข็งแกร่งด้วยเครือข่ายสาขาในทุกภาคทั่วประเทศ โดยมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ในสมาคมฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายกรรมการ , ฝ่ายสาขาวิศวกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา , วิศวกรรมไฟฟ้า , วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ , วิศวกรรมเหมืองแร่ โลหะและปิโตรเลียม , วิศวกรรมเคมีและปิโครเคมี , วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ,วิศวกรรมโยธา , วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และฝ่ายสาขาภาคและทีมงานที่มีคุณภาพ โดยตลอด 75 ปีที่ผ่านมา วสท.นับเป็นองค์กรหลักแห่งหนึ่งที่มีภารกิจหลักมุ่งมั่นพัฒนาเสริมสร้างวิชาชีพวิศวกรรม และเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิศวกรรม ตลอดจนแนวทางมาตรฐานการดำเนินงานด้านวิศวกรรมสำหรับประเทศไทยโดยสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล ผ่านการจัดสัมมนาอบรมตลอดปี ร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาตำรา คู่มือต่างๆสำหรับงานวิศวกรรมในประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้วิศวกรเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่งตลอดชีวิต และประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงองค์ความรู้และสามารถนำแนวทางไปปรับใช้ได้ในอนาคต
วสท.ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและเป็นที่พึ่งของประชาชนและประเทศชาติ ในยามเกิดอุบัติภัยและประชาชนได้รับความเดือดร้อน เช่น อาคารถล่ม ไฟไหม้ น้ำท่วม การผนึกกำลังในภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า ถ้ำนางนอน เชียงราย, แผ่นดินไหวเชียงราย ระดมทีมวิศวกรอาสาลงตรวจสอบอาคารบ้านเรือน และช่วยเหลือให้คำแนะนำประชาชน ตลอดจนจัดอบรมช่างท้องถิ่น ส่งทีมวิศวกรเดินทางสำรวจแผ่นดินไหวเนปาลและประสานกับเครือข่ายความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ วสท.ยังส่งเสริมวิศวกรไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล และผนึกความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรระดับโลกและต่างประเทศ อาทิ ความร่วมมือป้องกันอัคคีภัยกับสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NFPA)-USA ความร่วมมือกับเครือข่ายวิศวกรรมต่างประเทศ เช่น การประชุมประจำปีของสมาพันธ์สมาคมวิศวกรอาเซียน (CAFEO 36) , ความร่วมมือทางการศึกษากับมหาวิทยาลัย Curtin เป็นต้น
ในยุค Technology Disruption และ Thailand 4.0 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ พร้อมที่จะก้าวไป สู่อนาคตด้วยพลังสร้างสรรค์ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และมุ่งมั่นภารกิจเสริมสร้างศักยภาพของคนไทย วิศวกรไทย เพื่อนำเอาความรู้ทางวิชาชีพวิศวกรรมมาพัฒนาความก้าวหน้าให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิศวกรรม เศรษฐกิจและสังคมประเทศชาติให้มากที่สุด